นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านทรัพยากรบุคคล สายธุรกิจไก่เนื้อ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้นำ มาตรฐานแรงงานไทย หรือ มรท. (Thai Labour Standard: TLS 8001-2553) มาประยุกต์ใช้และพัฒนาการจ้างและสภาพการทำงานของแรงงานในฟาร์มเลี้ยงไก่ของบริษัทฯ ทุกแห่งทั่วประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานไทย และเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการขอการรับรองจากกระทรวงแรงงานภายในปี 2560 นี้
"การประยุกต์ใช้มาตรฐานแรงงานไทยจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แรงงานทุกคนในห่วงโซ่ผลิตอาหารของซีพีเอฟ ตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทางได้รับการปฏิบัติที่ดีอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล" นายปริโสทัติกล่าว
ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้ร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกรมปศุสัตว์ ดำเนินการส่งเสริมให้ฟาร์มไก่ และฟาร์มสุกรของบริษัท และของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย (คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง) นำหลักปฏิบัติต่อแรงงานที่ดี (Good Labour Practice หรือ GLP) ไปใช้ในฟาร์มอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการติดตามทวนสอบการดำเนินการดูแลแรงงานของฟาร์มเกษตรกรคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2560 นี้
ด้านนายอับดุลเลาะห์ เลิศอริยะพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านทรัพยากรบุคคล สายธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ธุรกิจสัตว์น้ำ ของซีพีเอฟได้ประยุกต์ใช้มาตรฐานแรงงานไทยในการบริหารจัดการแรงงานตลอดห่วงโซ่การผลิตกุ้ง ตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์น้ำ ฟาร์มเพาะลูกพันธุ์กุ้ง ฟาร์มเลี้ยง และโรงงานแปรรูป มาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และจากการที่ดำเนินการอย่างจริงจัง ส่งผลให้โรงงานอาหารสัตว์น้ำ และโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์น้ำ โดยเฉพาะฟาร์มเพาะลูกพันธุ์กุ้ง 2 แห่ง ได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยระดับสมบูรณ์ขั้นสูงสุดตั้งแต่ปี 2550 และสามารถรักษาการดำเนินงานตามมาตรฐานแรงงานไทยต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน
"ฟาร์มกุ้งทั้ง 2 แห่ง ได้กลายเป็นต้นแบบให้กับฟาร์มเลี้ยงสัตว์อื่นๆ ของบริษัทได้ศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดีในห่วงโซ่การผลิตต่อไป" นายอับดุลเลาะห์กล่าว
เมื่อเร็วๆ นี้ ฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัทฯ 3 แห่ง ได้แก่ ฟาร์มกุ้งระยอง 3 ฟาร์มกุ้งสวี 1 และฟาร์มนครฟาร์ม ผ่านการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยขั้นพัฒนา ส่วนในปี 2560 นี้ ธุรกิจสัตว์น้ำ จะขยายให้ฟาร์มเพาะเลี้ยงและฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยเพิ่มเติม อีก 7-10 แห่ง
ซีพีเอฟตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้ฟาร์มของเกษตรกรที่มีศักยภาพเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย สอดรับกับแนวทางของภาครัฐ ที่ต้องการให้ภาคเกษตรอุตสาหกรรมของไทยเข้าสู่มาตรฐานแรงงานไทย เพื่อร่วมกันยกระดับสวัสดิภาพของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานอาหารให้สูงขึ้น ตลอดจนป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม
ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำของไทย ให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารคุณภาพสูง มีโภชนาการ และมีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง ควบคู่กับการปฏิบัติต่อแรงงานทุกคนอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลกว่า ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารของซีพีเอฟดำเนินบนพื้นฐานของความรับผิดชอบด้านแรงงาน.