นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "โรคไข้เลือดออกนับเป็นโรคประจำถิ่น ที่มาพร้อมกับเพชฌฆาตตัวน้อย "ยุงลาย" ที่มีอายุสั้นเพียง ๗ วันเท่านั้น ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่าโรคไข้เลือดออกจะมาพร้อมสายฝนในฤดูฝนใช่หรือไม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นโรคไข้เลือดออกสามารถเป็นได้ทุกฤดูกาล ขอเพียงมีแหล่งน้ำขังที่สะอาดก็สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ แต่ในฤดูฝนมีความเสี่ยงสูงขึ้นเพราะปริมาณน้ำมากทำให้เกิดแหล่งน้ำขังในหลายพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคในปี ๒๕๕๘ มีผู้ป่วยทั่วประเทศไทย ๑๔๖,๐๘๒ ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต ๑๕๔ ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมาก คือ กลุ่มเด็กอายุระหว่าง ๑๐–๑๔ ปี แต่สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงเมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า ๑ ปี กลุ่มผู้สูงอายุ คนท้อง คนอ้วน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าข่ายความเสี่ยงนี้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์พยาบาลที่มีประสบการณ์"
โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในฐานะโรงพยาบาลของ กระทรวงสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญดูแลรักษาโรคเด็กที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เด็กป่วยถูกส่งต่อมาจากทั่วประเทศ พร้อมทั้งเป็นหน่วยงานที่มีศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านไข้เลือดออก โดยเป็นผู้นำในการทำแนวทางการวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย ลดการตายหรือลดความพิการที่เกิดจากโรคไข้เลือดออก โดยได้รับการยอมรับในระดับโลกจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นWHO Collaboration Center ด้านการดูแลรักษาไข้เลือดออก ได้มีการนำแนวทางและวิสัยทัศน์ของศูนย์ฯ ไปเผยแพร่ ซึ่งสามารถช่วยเหลือและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้เลือดออกลงได้อย่างมากในหลายๆ ประเทศ อาทิ บังคลาเทศ ภูฏาน บราซิล กัมพูชา เคปเวอร์ด อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย มัลดีฟ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ซูดาน ติมอร์เลสเต เวเนซูเอลา เป็นต้น
ล่าสุด ได้สานต่อนโยบายกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยเผยแพร่ความรู้เรื่องวิธีการป้องกันและรู้ทันเรื่องโรคไข้เลือดออกแก่แม่และเด็กแพทย์หญิงปิยรัชต์ สันตะรัตติวงศ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "การป้องกันโรคไข้เลือดออกสามารถทำได้ ๓ ขั้นตอน เปรียบเสมือนเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกันถึง ๓ ชั้น โดยการเสริมเกราะคุ้มกันที่ ๑ นั้น ปัจจุบัน มีแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ ๙ ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ๔๕ ปี แบ่งการฉีดเป็น ๓ เข็ม ระยะห่างกัน ๖ เดือน (๐, ๖, ๑๒ เดือน) แต่ไม่แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุน้อยกว่า ๙ ปี โดยเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเดงกี่เท่านั้น จากการวิจัยพบว่าสามารถป้องกันโรคได้ถึง ๗๐% ซึ่งถ้าร่างกายของผู้รับการฉีดวัคซีนเคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่แล้ว ก็จะเป็นการเสริมภูมิป้องกันได้ดียิ่งขึ้น โดยคนไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปตรวจเช็คก่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากประเทศไทยมีไข้เลือดออกระบาดเกือบทุกปี ดังนั้นผู้ที่มีอายุเกิน ๙ ปี สามารถฉีดวัคซีนได้ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยสรุปวัคซีนไข้เลือดออกมีประสิทธิภาพที่ดีและปลอดภัย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพ่อแม่หรือบุคคลทั่วไปที่จะฉีดเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก"
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคไข้เลือดออก หรือ การเสริมเกราะคุ้มกันที่ ๒ คือ การช่วยกันกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน การป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การเสริมเกราะคุ้มกันที่ ๓ คือการไปพบแพทย์เมื่อป่วย เป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะไข้เลือดออกที่เป็นมากจะมีโอกาสเกิดภาวะช็อกเมื่อไข้เริ่มลด พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรประมาท ควรติดตามอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย ซึม รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน ปวดท้อง ถ้ามีอาการดังกล่าวแม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วก็ควรต้องไปพบแพทย์
ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเด็กหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สามารถปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศด้านไข้เลือดออก บริการตรวจ จันทร์ –ศุกร์ เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. หรือติดต่อโทร. ๑๔๑๕ ต่อ ๓๙๐๔ หรือwww.childrenhospital.go.th