พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ชุมชนบ่อนไก่เดิมเป็นแหล่งเสื่อมโทรมขนาดใหญ่ ซึ่งสำนักงานปรับปรุงแหล่งชุมชน เทศบาลนครกรุงเทพ (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) ต้องการปรับปรุงบริเวณดังกล่าว ด้วยการอพยพรื้อย้ายชาวชุมชนแล้วสร้างอาคารแฟลตขึ้นทดแทน ต่อมารัฐบาลได้โอนชุมชนบ่อนไก่มาให้อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ(กคช.) ใน ปี 2516 โดยเช่าที่ดินกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พื้นที่รวม 106 ไร่ 58.44 ตารางวา ปัจจุบันคงเหลือ 68 ไร่ 56.20 ตารางวา (เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินขอพื้นที่คืนบริเวณซอยปลูกจิตต์ จำนวน 38 ไร่ 2.24 ตารางวา) ในพื้นที่ประกอบด้วย 4 โครงการ 15 อาคาร จำนวน 2,578 หน่วย ได้แก่ โครงการบ่อนไก่ รับโอน จัดสร้างเป็นอาคารสูง 5 ชั้น 4 อาคาร รวม 336 หน่วย (รับโอนมาจากเทศบาลนครกรุงเทพ เมื่อปี 2516 (กรุงเทพมหานครปัจจุบัน) โครงการบ่อนไก่ ระยะ 1 จัดสร้างเป็นอาคารสูง 5 ชั้น 2 อาคาร รวม 120 หน่วย (ก่อสร้างปี 2518) อาคารสูง12 ชั้น 2 อาคาร รวม 432 หน่วย และอาคารสูง 12 ชั้น 2 อาคาร รวม 264 หน่วย (เช่าซื้อเฉพาะตัวอาคาร) โครงการบ่อนไก่ระยะ 2 ส่วน 1 เป็นอาคารสูง 5 ชั้น 1 อาคาร รวม 72 หน่วย (ก่อสร้างปี 2522) และอาคารสูง 12 ชั้น 2 อาคาร รวม 308 หน่วย รวมถึง โครงการบ่อนไก่ ระยะ 3 ส่วนที่ 1 (บ้านพระราม 4) จัดสร้างเป็นอาคารสูง 14 ชั้น 2 อาคาร รวม 1,046 หน่วย และอาคารจอดรถสูง 5 ชั้น 1 อาคาร จำนวน 613 คัน (ก่อสร้างเมื่อปี 2540)
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กคช. มีแผนดำเนินโครงการพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย 680 ชุมชน ในโครงการที่อยู่อาศัยในความดูแลทั่วประเทศ มีเป้าหมายดำเนินการในปี 2560 จำนวน 100 ชุมชน เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมสภาพห้องพักอาศัยให้พร้อมอยู่โดยมีโครงการเคหะชุมชนบ่อนไก่เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งในระยะแรกจะเข้าดำเนินการในโครงการบ่อนไก่ระยะที่ 3 ส่วน 1 หรือบ้านพระราม 4 เป็นอาคารสูง 14 ชั้น จำนวน 2 อาคาร รวม 1,046 หน่วย ขนาดพื้นที่ห้องพักอาศัย 32.8 ตารางเมตร และอาคารจอดรถสูง 5 ชั้น 1 อาคาร โดยก่อนหน้านี้ กคช.บริหารโครงการด้วยการให้เช่าเซ้งและเช่า ต่อมาในปี 2544 ได้ให้บริษัท กินเนส เทิร์นอราวด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เช่าเหมาอาคารสัญญา 15 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2544 ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 ในระหว่างนี้ กคช.ได้บอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา หลังจากนั้นบริษัทได้ส่งคืนพื้นที่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้ทำสัญญาผู้เช่าในโครงการบ้านพระราม 4 แล้วจำนวน 575 หน่วย ส่วนที่เหลือเป็นอาคารว่าง 471 หน่วย สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ที่เป็นประชาชนผู้มีรายได้ปานกลางซึ่ง กคช.จะเข้าดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชุมชน โดยมีรายละเอียดที่จะดำเนินการปรับปรุง ประกอบด้วย ภายในห้องพักเช่น งานปรับปรุงพื้นที่ภายในห้องงานปรับปรุงฝ้าเพดาน งานปรับปรุงโคมไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมด งานทาสีผนังและฝ้าเพดาน และงานติดตั้งสุขภัณฑ์ ภายในห้องน้ำใหม่ทั้งหมด ในส่วนของการปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางภายในและภายนอกอาคาร ได้แก่ งานทาสีภายในโถงด้านหน้าห้องและภายนอกอาคาร งานปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่วนกลาง งานปรับปรุงระบบความปลอดภัย งานปรับปรุงภูมิทัศน์และอื่นๆ เป็นต้น รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่และลานจอดรถ ได้แก่ งานทาสีอาคารจอดรถ งานกำหนดพื้นที่จอดรถสำหรับสตรีและผู้พิการงานปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เป็นต้น สำหรับอัตราค่าเช่าของผู้อยู่อาศัยเดิมอยู่ระหว่าง 4,500 - 7,000 บาทต่อเดือน(รวมค่าส่วนกลางแล้ว) ส่วนอัตราค่าเช่าสำหรับผู้อยู่อาศัยใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
"การลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากตรวจเยี่ยมโครงการและรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยแล้ว ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้ความช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ อาทิ ผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กและเยาวชน ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีความมุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ชาวชุมชนดังกล่าวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย