ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ย้ำระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ ช่วยแก้ปัญหาการกั๊กที่เรียนและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษา ด้วยหลักการ 3 ข้อ คือ 1. นักเรียนควรอยู่ในห้องเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2. นักเรียนแต่ละคนมีเพียง 1 สิทธิ์ ในการตอบรับสาขาวิชาที่เลือกเพื่อความเสมอภาค และ 3.สถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย ทปอ. ทุกแห่ง จะเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์เพื่อบริหาร 1 สิทธิ์ของนักเรียน พร้อมประกาศนำทัพมหาวิทยาลัยไทยปรับหลักสูตรและแนวทางการเรียนการสอนรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ "Value–Based Economy" หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" โดยเตรียมผลักดัน สจล. เป็นต้นแบบ นำร่อง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4. กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่าที่ประชุม ทปอ. ได้พิจารณาร่วมกันในการปรับกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป ด้วยหลักการ ดังนี้ 1. นักเรียนควรอยู่ในห้องเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2. นักเรียนแต่ละคนมีเพียง 1 สิทธิ์ ในการตอบรับสาขาวิชาที่เลือกเพื่อความเสมอภาค และ 3.สถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย ทปอ. ทุกแห่ง จะเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์เพื่อบริหาร 1 สิทธิ์ของนักเรียน โดยการรับสมัครมีทั้งสิ้น 5 รอบ คือ
1. การรับนักเรียนโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ไม่มีการสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนโควตา นักเรียนเครือข่าย โดยให้ยื่นสมัครโดยตรงกับสถาบันอุดมศึกษา
2. การรับนักศึกษาระบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาคโควตาโรงเรียนในเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ สถาบันการศึกษาประกาศเกณฑ์การสอบ ให้นักเรียนยื่นสมัครโดยตรงกับสถาบันอุดมศึกษาและเข้ารับการคัดเลือกตามเกณฑ์การสอบ
3. การรับสมัครนักศึกษารับตรงรวมกัน สำหรับนักเรียนในโครงการ กสพท. โครงการอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา โดยไม่มีลำดับ สถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีการสอบกลางร่วมกันในเวลาเดียวกัน แต่ละสถาบันกำหนดเกณฑ์ที่เป็นอิสระของตนเอง
4. การรับสมัคร Admissions โดยใช้เกณฑ์แต่ละสาขาเหมือนกันหมด สำหรับนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร สามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ โดยใช้เกณฑ์ค่าน้ำหนักตามที่ประกาศไว้ล่วงหน้า 3 ปี
5. การรับตรงอิสระ สถาบันอุดมศึกษารับโดยตรงด้วยวิธีการของสถาบันเอง
การเปลี่ยนแปลงระบบคัดเลือกบุคคลากรเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาครั้งนี้ จะทำให้นักเรียนไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ลดความเครียด เพราะในแต่ละรอบจะมีการนำรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์ ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและต้องการเข้าศึกษาและจะถูกตัดสิทธิ์ในรอบต่อไป แต่หากต้องการเข้าร่วมในรอบถัดไปต้องสละสิทธิ์เดิมเสียก่อน เพื่อเป็นคืนสิทธิ์ให้กับผู้อื่น ทั้งนี้ การใช้สัดส่วนคะแนน GPAX, ONET, GAT, PAT จะยังคงเป็นไปตามประกาศล่วงหน้า 3 ปี คือในปีการศึกษา 2560 – 2562 และสำหรับนักศึกษานานาชาติก็ต้องนำเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์เช่นกัน
อธิการบดี สจล. กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ก่อนหน้านี้ ทปอ. ได้เข้าหารือกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงบทบาทมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนหลักสูตรการเรียนการสอน ให้สอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ซึ่งก่อนหน้านี้ ทปอ. ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับรัฐบาลไปแล้วนั้น ในฐานะประธาน ทปอ. คนปัจจุบัน ได้เร่งผลักดันการทำงานตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ตามที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้ โดยในเบื้องต้นนอกจากการหารือของคณะทำงาน เพื่อขยายแนวทางสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันในส่วนของ สจล. ที่ผ่านมาได้ดำเนินการปรับหลักสูตรและแนวทางการเรียนการสอน ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามความต้องการของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ "Value–Based Economy" หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" ถือว่าสอดคล้องนโยบายของ สจล. ที่ต้องการพัฒนาประเทศด้วยองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในระยะเวลา 4-5 ปีจากนี้ ถือเป็นความท้าทายที่หน่วยงานต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษาต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ โดยเฉพาะใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่ง สจล. ได้เร่งวางนโยบายและรูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องตามแผนดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน ประกอบไปด้วย
1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) ด้วยสภาพภูมิประเทศทำให้กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเกษตร ยังคงเป็นหนึ่งกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รูปแบบการเรียนการสอนในอนาคตต้องผนวกองค์ความรู้สู่การเป็น Smart Farmer โดยส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความต้องการของตลาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยปัจจุบัน สจล. มีคณะและภาควิชาที่เปิดสอนด้านนี้อย่างครอบคลุม ได้แก่ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร ภาควิชาครุศาสตร์เกษตร ภาควิศวกรรมเกษตร และภาควิชาวิศวกรรมอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการคิดค้นเทนโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ต่อยอดจากงานวิจัย เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและศักยภาพของเกษตรกรไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ อาทิ การสร้างโมเดลความมั่นคงทางอาหาร การวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร และการผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมอำนวยความสะดวก เช่น เตาผลิตไอน้ำสำหรับโรงเพาะเห็ด หุ่นไล่กาด้วยคลื่นความถี่ เป็นต้น
2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness&Bio-Med) ที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ถือเป็นหนึ่งในผู้คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา อาทิ หูฟังทางการแพทย์แบบดิจิตอล เพื่อบันทึกและวิเคราะห์สัญญาณหัวใจสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องเฝ้าระวังผู้ป่วยอัตโนมัติ แบบจำลองฝึกตรวจมะเร็งเต้านมจากยางธรรมชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเนื่องจากโครงสร้างทางประชากรสูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้น ประกอบกับแนวโน้มความซับซ้อนของโรคภัยที่รุนแรงมากขึ้น ในระยะอันใกล้นี้ สจล. จึงจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติขึ้น เพื่อมุ่งสร้างองค์ความรู้เชิงลึกให้ครอบคลุมทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีคุณภาพแก่วงการแพทย์และสาธารณสุขไทย ซึ่งในภาพรวมจะช่วยส่งเสริมวงการแพทย์ไทย ขึ้นสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคตามนโยบายเมดิคอลฮับอย่างยั่งยืน
3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จะพลิกโฉมวงการผลิตอย่างสิ้นเชิง โดยมีการเพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์อิจฉริยะ รวมถึงหุ่นยนต์และระบบเครื่องกลเข้ามาควบคุมสายการผลิตมากขึ้น ข้อดีคือเพิ่มกำลังและประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว สจล. ได้ผนวกความรู้และทักษะในการคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์กลุ่มนี้ แก่คณะและภาควิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบชาญฉลาดอัตโนมัติ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนมือของหุ่นยนต์ไปหยิบจับวัตถุได้อัตโนมัติ สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม
4. กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology) การแพร่ขยายของอินเตอร์ทำให้เทคโนโลยีดิจิตอลและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาทและความในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาและคิดค้นเทคโนโลยีด้านนี้จำเป็นต้องอาศัยความรู้หลายด้าน โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ผนวกเข้ากับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้เรียนรู้และเข้าใจความสามารถของมนุษย์ สจล. ได้มุ่งส่งเสริมให้คณะและภาควิชาต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ ซึ่งถือเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services) ในอนาคตมูลค่าของอุตสาหกรรในกลุ่มนี้จะยิ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว ตามไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบของคนยุคใหม่ ซึ่งจากสถิติพบว่ามูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ในปี 2557 มีมูลค่าสูงถึง 1.61 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 13.18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การช่วงชิงความได้เปรียบและดึงเม็ดเงินจากอุตสาหกรรมนี้เข้าสู่ประเทศมากขึ้น ดั้งนั้น เพื่อสร้างคุณต่าและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ สจล. จึงเน้นการสอนเพื่อสร้างไอเดียใหม่ที่ผสมผสานความครีเอทีฟ ไม่เฉพาะกับนักศึกษาในภาควิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง ภาควิชานิเทศศิลป์ ภาควิจิตรศิลป์ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาควิชาและคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านนี้ด้วย
ทั้งนี้ การปรับแนวทางการเรียนการสอน นำร่องใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมข้างต้น ยังสามารถช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะสอดรับกับการทำงานของโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วย คือทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรคาดหวังอย่างมากจากแรงงานในอนาคต
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่www.kmitl.ac.th