คุณอนุชนา วิชเวช ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ บริษัท ยูบีเอ็ม (เอเชีย) ประเทศไทย จำกัด ผู้จัดงาน ASEAN beauty 2017 หรือ อาเซียนบิวตี้ 2017 งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี นวัตกรรมความงาม และการเจรจาธุรกิจด้านอุตสาหกรรมความงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน กล่าวว่า ปัจจุบันมีธุรกิจเครื่องสำอางที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,800 ราย ด้วยมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลกว่า 11,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยอัตราเติบโตร้อยละ 40 สามารถแบ่งตามพื้นที่เป็นกรุงเทพมหานคร 53.5%, ภาคกลาง 27.5% และ ภาคเหนือ 6.2% ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งการค้า แหล่งวัตถุดิบ และนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น โดยในจำนวนของผู้ดำเนินกิจการทั้งหมดนี้เป็น SMEs ถึง 90%
"การจัดงานอาเซียนบิวตี้ 2017 จึงเป็นอีกเวทีสำคัญในการผลักดันผู้ประกอบการไทย SMEsไทย ในอุตสาหกรรมความงามให้ผลิตสินค้าและทำการตลาดในเวทีโลกได้ โดยพบว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีการตื่นตัวและเข้าร่วมการแสดงสินค้าในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นถึงปีละ 15% โดยมีการตั้งเป้าที่ชัดเจนว่าจะสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นในผู้บริโภคชาวต่างชาติซึ่งล้วนแล้วแต่ชื่นชอบสินค้าไทยเป็นทุนเดิม ก่อนที่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะนำกระแสนิยมที่ได้รับจากนอกประเทศเข้ามาสร้างความต้องการให้เกิดขึ้นกับตลาดในประเทศ ดังเช่นหลายๆ แบรนด์ที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วจากการทำตลาดแบบเอาท์ไซด์-อิน เช่นนี้ ในอีกทาง การผลิตสินค้าความงามที่จะสามารถส่งออกต่างประเทศได้ ย่อมได้รับการตรวจสอบคุณภาพ และการรับรองมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการขยายตลาดเพิ่มเติมทั้งในและนอกประเทศ เพราะผู้บริโภคย่อมไว้วางใจในสินค้าที่ได้รับการยอมรับจากมาตรฐานระดับโลก" คุณอนุชนากล่าว
ส่วนเทรนด์ความงามปี 2018 ยังคงตอบรับกับกระแสรักษ์โลก รักสุขภาพของผู้บริโภค โดยมีแนวโน้มว่าสินค้าความงามจะต้องลดการใช้น้ำอันเป็นทรัพยากรสำคัญลง ตามมาด้วยเทรนด์การใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่เข้าใกล้ความเป็น 100% ให้ได้มากที่สุด ส่วนอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามอง คือเทรนด์เครื่องสำอางสำหรับเด็ก โดยการวิจัยของ Mintel (มินเทล) ระบุไว้ว่า เด็กอเมริกันร้อยละ 80 ที่มีอายุระหว่าง 9-11 ขวบ ได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่ทำขึ้นมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ อาทิเช่น ลิปมัน โลชั่นที่มีกลิ่นหอม ฯลฯ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับเทรนด์ความงามในแต่ละเทรนด์ ดังนี้
Water …The New Luxury
ในอนาคตโลกจะเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำ และน้ำจะกลายเป็นทรัพยากรที่หาได้ยากและกลายเป็นวัตถุดิบที่มีราคาสูงไปโดยปริยาย ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศในปัจจุบันกำลังตื่นตัวถึงปัญหาด้านการใช้น้ำ โดย 33% ของประชากรในสหราชอาณาจักร บอกว่ายอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ช่วยประหยัดน้ำ, 27% อาบน้ำเร็วขึ้นและประหยัดน้ำมากขึ้น
ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ ต้องปรับตัว เริ่มจากการปรับสูตรของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นสูตรใช้น้ำน้อยไปจนถึงไม่ต้องใช้น้ำเลย เช่น Dry-Shampoo, สบู่ที่ไม่ต้องล้างออก และยาสีฟันที่ไม่ต้องล้าง เป็นต้น และสำหรับในยุคต่อไป คาดการณ์ว่าสินค้าความงามเกือบทั้งหมดจะพัฒนารูปแบบไปสู่การที่ไม่ใช้น้ำอีกเลย
Gas-tronomia
จากกระแสนิยมรักสุขภาพและการใฝ่หาความเป็นธรรมชาติ 100% ทั้งในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ส่งผลให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันหลังให้สิ่งที่ผลิตขึ้นจากห้องแล็บ โดยจากผลสำรวจของมินเทล พบว่า 50% ของเพศชายในสหราชอาณาจักรเชื่อว่าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมและวัตถุดิบจากธรรมชาติให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเครื่องสำอางแบรนด์ใหญ่ที่ผลิตในห้องแล็บ และอีกกว่า 42% ของผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักรเชื่อว่าการซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจะทำให้สุขภาพดีขึ้นและสภาพแวดล้อมของโลกดีขึ้นด้วย
นำมาซึ่งความนิยมของเทรนด์ความงามที่เรียกเล่นๆ ว่า 'kitchen-beauty' ที่หยิบเอาวัตถุดิบต่างๆ ในครัวมาใช้สำหรับเสริมความงาม โดยนอกจากจะเป็นการตอกย้ำถึงกระแสรักสุขภาพแล้ว ยังสามารถเห็นถึงการมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้กำหนดสูตรต่างๆ ของเครื่องสำอางได้เองอีกด้วย
Power Play
ไลฟ์สไตล์แบบคนยุคใหม่ที่เร่งรีบ และทำกิจกรรมหลากหลาย ทำให้ปัญหากวนใจเรื่องผิวพรรณเปลี่ยนจากยุคขาวกระจ่างใส และต้านริ้วรอย มาเป็นความกังวลเรื่องพลังงาน และความสดใสของผิวแทน จึงทำให้ผู้บริโภคในยุคนี้เริ่มค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการให้เพิ่มพลังให้ผิว โดย 79% ของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรไม่ชอบความรู้สึกไร้เรี่ยวแรง เหนื่อยล้า และเป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 2 ที่ชาวอเมริกันกังวลเช่นกัน และในปัจจุบัน ผู้บริโภคไม่มีเส้นแบ่งระหว่างปัญหาด้านความงาม โดยผลงานวิจัยรายงานว่า 72% อยากทำให้ผิวมีสุขภาพดีขึ้นด้วยการนอนหลับที่ดีขึ้น, 64% ต้องการทานอาหารอย่างสมดุลเพื่อลดน้ำที่ค้างอยู่ในผิวหนัง, 59% ต้องการที่จะออกกำลังกายมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมองหาสินค้าและบริการทางความงามที่ตอบสนองเพื่อสุขภาพองค์รวมเพิ่มมากขึ้น
จากรายงานของมินเทล ระบุว่า ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้ามากกว่า 12% เพิ่มส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มพลังให้ผิว ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สำหรับดวงตา และผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายอื่นๆ เพิ่มมาเช่นกัน ผลงานวิจัยนี้ทำให้เห็นความต้องการของผู้บริโภคและโอกาสของแบรนด์ในอนาคต ที่จะผลิตสินค้าในกลุ่ม Energy-Boosting มากขึ้น
Digital Experience
เทคโนโลยีความงาม ทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ว่าตัวเองมีส่วนร่วมสำคัญในการจัดการกับความงามบนร่างกายตัวเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งผลงานวิจัยระบุว่า ผู้บริโภคชาวจีน 18% เป็นเจ้าของเทคโนโลยีความงามที่ทรงประสิทธิภาพ เพิ่มขึ้นถึง 13% จากปี 2014 นอกจากนี้เกือบครึ่ง (48%) ของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดในอังกฤษ? ให้ความสนใจที่จะใช้แอปพลิเคชั่น ที่สามารรถตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของสภาพผิว และจุดด่างดำต่างๆ ซึ่งในปัจจุบัน กว่า 30% ของผู้หญิง อเมริกาบอกว่าพวกเขาสนใจที่จะลองใช้สกินแคร์ที่มีเครื่องมือช่วยตรวจสภาพผิวพร้อมกันด้วย
มีรายงานว่า 64% ของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าความงามนั้น มีความสนใจกับอุปกรณ์ความงามที่สร้างการมีส่วนร่วม(Interactive)กับพวกเขา รวมถึง ประสบกาณ์ดิจิตอลที่เกิดขึ้นในสโตร์ เช่น Virtual mirror, Vitual reality headsets และ Interactive Displays รวมถึงในซาลอนเช่นกัน
Kids Cosmetics
เมื่อความงามไม่ได้จำกัดอยู่แค่เครื่องสำอางสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานอีกต่อไป เนื่องจากกระแสการดูแลตัวเองและการเอาใจใส่ในรูปลักษณ์ได้ส่งผลต่อความต้องการของเด็กๆ ในอเมริกา การวิจัยของ Mintel ระบุไว้ว่า เด็กอเมริกันร้อยละ 80 ที่มีอายุระหว่าง 9-11 ขวบ ได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่ทำขึ้นมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ อาทิเช่น ลิปมัน แป้งพัฟ โลชั่นที่มีกลิ่นหอม ฯลฯ โดยเด็กวัยรุ่นอเมริกันร้อยละ 80 ที่มีอายุระหว่าง 9 และ 11 ขวบ จะนิยมใช้เมคอัพเพียงแค่บางอย่างเท่านั้น ส่วนเด็กวัยรุ่นที่อายุระหว่าง 12-14 ปีนั้น ร้อยละ 54 นิยมใช้มาสคารา, อายแชโดว์, อายไลเนอร์ และดินสอเขียนคิ้ว ข้อมูลจากการวิจัยยังระบุไว้อีกว่า วัยรุ่นอเมริกันในช่วงอายุ 12-14 ปีบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่พวกเขาได้ตัดสินใจใช้เครื่องสำอางตั้งแต่ยังเด็กเนื่องจากมันทำให้พวกเธอรู้สึกมั่นใจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางหันมาใส่ใจในความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่นี้
Real Influencer
เชื่อว่าเจ้าของแบรนด์หลายๆ แบรนด์ที่อยากทำการตลาดออนไลน์ ต้องสนใจหา Influencer หรือ Blogger มารีวิวสินค้าอยู่แน่ๆ เพราะในปัจจุบันกลยุทธ์การใช้ Influencer รีวิวสินค้า หรือบริการ ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ จนใครๆ ต้องจับตามมอง ซึ่งจุดเด่นของการทำการตลาดผ่าน Influencer ก็คือ การสื่อสารที่ดูเป็นธรรมชาติเหมือนไม่ใช่การโฆษณา ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่าสื่อดั้งเดิม ตามข้อมูลจาก Acumen Report พบว่าในกลุ่มผู้บริโภควัย 18-24 ปี มี 62% ที่คิดจะซื้อสินค้าที่มีคนดังใน YouTube โฆษณาให้ แต่มีเพียง 49% ที่จะซื้อสินค้าที่โฆษณาผ่านทีวีหรือภาพยนตร์ ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากผู้ชมคลิป YouTube มองผู้ผลิตคลิปหรือ Influencer เป็นเหมือนเพื่อนที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่เซเลบริตี้ที่เข้าไม่ถึง
เพราะความดังทำให้ Influencer ขายได้ และเพราะความดังเช่นกัน ที่เป็นจุดเปลี่ยนในยุค Influencer เพราะในอนาคตผู้บริโภคจะรู้ว่าคนดังเหล่านี้ ได้รับผลประโยชน์จากการรีวิว และเลิกเชื่อในที่สุด ขณะเดียวกันก็จะหันมาเชื่อ Influencer เฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นเพื่อน หรือคนรู้จัก ใกล้ตัว เพราะเชื่อว่าการรีวิวเหล่านั้นเกิดจากประสบการณ์ตรงจากการใช้จริงมากกว่า ภายใน 5 ปี ข้างหน้า เพื่อนๆ พี่น้อง ใกล้ตัวของเราจึงกลายเป็น The Real Influencer ที่แท้จริง
ด้านคุณเกศมณี เลิศกิจจา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ให้สัมภาษณ์ว่า อุตสาหกรรมความงามของโลกยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง เนื่องจากประชากรวัยทำงานอันเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงได้เพิ่มจำนวนขึ้น ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคด้านสุขภาพและความงามได้รับความนิยมมากขึ้นตามความต้องการของกลุ่มคนที่อยู่ในวัยที่กำลังดูแลรักษาสุขภาพมากที่สุด โดยจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่าอุตสาหกรรมความงามของไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ต่อปี ปัจจุบัน ธุรกิจนี้มีมูลค่าตลาดในประเทศถึง 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% หรือ 1.68 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกที่ทำรายได้ให้ประเทศถึง 40% หรือกว่า 1.12 แสนล้านบาท ส่วนในเวทีโลก ไทยครองอันดับที่ 17 ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกเครื่องสำอางรายสำคัญ ทั้งยังรั้งที่ 1 ในระดับอาเซียนอีกด้วย
"สำหรับสถานภาพสินค้าความงามของไทยพบว่า การบริโภคของตลาดในประเทศแบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผิวร้อยละ 46 ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมร้อยละ 16, เครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้าร้อยละ 16 และน้ำหอมร้อยละ 3 ส่วนการส่งออกสินค้าความงามของไทยไปยังอาเซียนและทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม 40%, ผลิตภัณฑ์สำหรับอาบน้ำ 22%, ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก 16%, สกินแคร์ 13% โดยประเทศที่ไทยส่งออกเครื่องสำอางไปจำหน่ายมากที่สุด คือญี่ปุ่น รองลงมาคือฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย และอินโดนีเซียตามลำดับ ซึ่งสินค้าความงามไทยนั้นได้รับความไว้วางใจในคุณภาพและมาตรฐานจากนานาประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับสินค้าที่ใช้สมุนไพรไทย ซึ่ง 90% ของอุตสาหกรรมความงามไทย เป็นผู้ผลิตแบบ SMEs จึงกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมศักยภาพของชาติ ด้วยได้รับการยอมรับในคุณภาพ มาตรฐาน และวัตถุดิบ ที่หากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน จะสามารถขึ้นแท่นติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกภายใน 3-5 ปีได้อย่างแน่นอน" คุณเกศมณีกล่าว