เมื่อถามถึง ปัญหาทุกข์ร้อน ในการใช้บริการรถเมล์ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มีอะไรบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.0 เคยเจอ รถเมล์ขับเร็ว ขับกระชาก รองลงมาคือ ร้อยละ 78.7 เคยเจอ หน้าต่าง ประตู ที่จับ ชำรุด เบาะนั่งฉีกขาด ร้อยละ 76.7 เคยเจอรถเมล์ เบรคกระทันหัน ร้อยละ 71.0 เคยเจอรถเมล์ ไม่จอดชิดขอบทาง จอดเลนสอง ห่างจากขอบถนน ร้อยละ 70.9 เคยเจอ รถเมล์ขับจี้รถคันหน้า ร้อยละ 66.4 เคยเจอรถเมล์ สภาพเหม็น อับ ร้อยละ 62.3 เคยเจอรถเมล์บางสาย มีรถน้อย ร้อยละ 60.9 เคยเจอรถเมล์แย่งกันรับผู้โดยสาร ร้อยละ 60.6 เคยเจอรถเมล์ จอดไม่ตรงป้าย และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 เคยเจอคนขับรถเมล์ อารมณ์เสีย หงุดหงิด ในขณะที่รองๆ ลงไปคือ สภาพในรถ มีการขีดเขียน ถ้อยคำไม่สุขภาพ คนเก็บตังค์ พูดจาไม่ดี มีคนล้วง กรีดกระเป๋า และ ผู้โดยสารหญิงเกินกว่า 1 ใน 3 ที่เคยเจอคนลวนลามทางเพศ บนรถเมล ตามลำดับ และเมื่อประเมินความพึงพอใจโดยรวม ต่อ การให้บริการของรถเมล์ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ได้คะแนนความพึงพอใจจากประชาชน แค่เกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อย คือ 5.75 คะแนนเท่านั้น
คณะประเมินของมูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ได้สอบถามประชาชนถึงประสบการณ์ใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐบาลในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบสารพัดปัญหาทุกข์ของประชาชน โดยพบว่า ปัญหาอันดับแรกคือ ร้อยละ 51.7 ระบุคนป่วยทั่วไป รอนาน ร้อยละ 47.1 คนป่วยฉุกเฉิน ประสบอุบัติเหตุ เช่น บาดเจ็บ ที่อวัยวะต่างๆ แต่ต้องรอนานกว่าจะได้รับการรักษา ร้อยละ 34.9 ระบุ พยาบาล บุรุษพยาบาล พูดจาไม่ดี ร้อยละ 29.1 ระบุ ห้องน้ำสกปรก ร้อยละ 28.2 ระบุ แพทย์ใส่ใจรักษาไม่เพียงพอ และ รองๆ ลงไปคือ มีการแซงคิว พูดจา ดูถูก เหยียดหยาม มีการปฏิเสธการรักษา อุปกรณ์การแพทย์ไม่สะอาด ไม่รักษาความลับของผู้ป่วย และ จ่ายยา ผิด ตามลำดับ และเมื่อถามถึงคะแนนพอใจโดยรวม ต่อการบริการของโรงพยาบาลรัฐบาล พบว่า เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 6.38 คะแนน คือ ค่อนข้างพอใจ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อขอให้ประชาชนได้จัดอันดับโรงพยาบาลรัฐบาล พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ โรงพยาบาล ศิริราช ได้ ร้อยละ 40.81 อันดับสอง ได้แก่ โรงพยาบาล รามาธิบดี ร้อยละ 20.15 อันดับสามได้แก่ โรงพยาบาล ราชวิถี ร้อยละ 10.08 เท่ากับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้อันดับสาม คือ ร้อยละ 10.08 เช่นกัน และอันดับห้า ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ร้อยละ 7.30 ตามลำดับ ในขณะที่ อันดับของโรงพยาบาลรัฐบาลอื่นๆ ที่ตามมาคือ โรงพยาบาล ตำรวจ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลกลาง (โรงพยาบาลเด็ก) โรงพยาบาล วชิรพยาบาล โรงพยาบาลเลิศสิน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ตามลำดับ
ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาความทุกข์จากการใช้บริการหลักของรัฐที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งบริการของรถเมล์ และบริการของโรงพยาบาล ที่ประชาชนเดือดร้อนมาพึ่งพาการให้บริการ แต่จำนวนไม่น้อยกลับประสบความทุกข์จากการให้บริการที่ขาดคุณภาพที่ดีเหล่านั้น ยิ่งผลสำรวจของการให้บริการจากโรงพยาบาลรัฐบาลที่พบว่า ประชาชนจำนวนมากมีประสบการณ์ต้องรอรับการรักษาจากอุบัติเหตุจนกลายเป็นผู้พิการไปเพราะ รอรับการรักษาโรงพยาบาลรัฐบาลที่นานเกินไป จึงหวังว่า ผลสำรวจประสบการณ์ของประชาชนในครั้งนี้จะช่วยทำให้การบริการประชาชนจากหน่วยงานภาครัฐได้นำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อลดความทุกข์ของประชาชนที่มาพึ่งการให้บริการและเพิ่มความสุขและรอยยิ้มของประชาชนให้มากขึ้นต่อไป