โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยทรงศึกษาข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ เป็นเวลาถึง 14 ปี เพื่อหาวิธีที่จะทำฝนเทียมเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเมื่อปี 2541 เกิดไฟป่าพรุโต๊ะแดง ที่ จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ให้คำแนะนำในการใช้น้ำแข็งแห้งทำฝนเทียมเพื่อดับไฟป่า คณะทำงานฝนหลวงจึงได้ประสานงานกับ ปตท. เพื่อขอรับการสนับสนุนน้ำแข็งแห้ง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนน้ำแข็งแห้งในการทำฝนหลวงจาก ปตท.
นายยุทธนา กล่าวเสริมว่า "น้ำแข็งแห้ง เป็นส่วนประกอบในการสร้างฝนเทียมโดยเป็นตัวเพิ่มฝนและเร่งอัตราการตกของฝน ผลิตมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. โดยเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิประมาณ –79 องศาเซลเซียส ถูกนำมาผ่านกระบวนการอัดและทำให้เย็นลงภายใต้ความดันสูงกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เหลว แล้วลดความดันลงอย่างรวดเร็วโดยการพ่นคาร์บอนไดออกไซด์เหลวสู่ความดันบรรยากาศ จะได้เป็นเกล็ดน้ำแข็งคล้ายเกล็ดหิมะ แล้วจึงนำมาอัดเป็นรูปแบบและขนาดต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้
สำหรับปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนในหลายพื้นที่ การก่อกำเนิดของโครงการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ยากของพสกนิกรด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ ปตท. ขอน้อมรำลึกและพร้อมที่จะเดินตามรอยพระบาท ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือสังคมประเทศ สนองแนวพระราชดำริในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง รวมถึงภัยพิบัติอื่นๆ อย่างเต็มที่ตลอดไป"