นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สับปะรดบ้านคา นับว่ามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ถือเป็นของดีจังหวัดราชบุรีที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยอำเภอบ้านคา สามารถปลูกสับปะรดได้ตลอดทั้งปี และทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่ เพื่อให้เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีการวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน ซึ่งเป็นการประหยัดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ในการนี้ สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ สับปะรด ที่อำเภอบ้านคา ซึ่งมีพื้นที่จำนวน 1,014 ไร่ สมาชิกจำนวน 82 ราย ทำการผลิตสับปะรดผลสด โดยเกษตรกรได้รับการส่งเสริมอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการการผลิตตามเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน มีการวางแผนการผลิตและการตลาด โดยเกษตรกรในกลุ่มมีการทำข้อตกลงซื้อขายกับ ห้างเทสโก้ โลตัส จำนวน 50 ราย พื้นที่กว่า 500 ไร่
สับปะรดบ้านคา คือ สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย รสหวานฉ่ำ ไม่กัดลิ้น กลิ่นหอม เนื้อละเอียด หนานิ่ม มีตาผลค่อนข้างตื้น เมื่อปอกเปลือกแล้วตาผลจะติดออกไปกับเปลือก ส่วนใหญ่มีการปลูกในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจอมบึง อำเภอปากท่า อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศใกล้เคียงกัน จัดอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงและพื้นที่ราบสูง มีฝนตกชุกในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,000 – 1,250 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 13 – 38 องศาเซลเซียส ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ความเป็นกรด –ด่างของดิน 4.5 – 5.5 ซึ่งจากสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ส่งผลให้การปลูกสับปะรดได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นเอกลักษณ์มีความแต่งต่างจากสับปะรดแหล่งอื่น
ทั้งนี้ สับปะรดบ้านคา ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ตามประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเกษตรกรในกลุ่มอยู่ระหว่างการดำเนินการขอขึ้นทะเบียนสมาชิกเกษตรกรผู้เพาะปลูกต่อไป หากเกษตรกรและผู้สนใจต้องการข้อมูลการผลิตและการตลาดสับปะรดบ้านคาในพื้นที่จังหวัดราชบุรีสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 โทร. 032 337 954 หรืออีเมล[email protected]