ปัจจุบัน แม้จะมีการควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์แล้วก็ตาม แต่ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ยังคงปรากฏเป็นประจำ เนื่องจากรายได้ที่ได้จากการกระทำผิดเป็นสิ่งจูงใจให้เกิดการกระทำความผิด และนำมาใช้ในการกระทำความผิดประเภทอื่นอีก ดังนั้น ผู้กระทำความผิดจึงได้พัฒนารูปแบบและวิธีการลักลอบให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และมีลักษณะการกระทำเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจะต้องมี การบูรณาการหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามขบวนการดังกล่าว นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้มีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลับลอบการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ อย่างเคร่งครัด โดยให้กรมศุลกากรบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมทั้งได้สั่งการมอบหมายให้นายไพศาล ชื่นจิตร ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย รักษาการที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี นายวรวุฒิ วิบูลย์ศิริชัย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม นายสรศักดิ์ มีนะโตรี ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเดชา วิชัยดิษฐ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม 3 ร่วมกันวางแผนสกัดกั้นขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ผิดกฎหมาย และดำเนินการกวาดล้างเครือข่ายผู้กระทำความผิด
การจับกุมในครั้งนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงในเที่ยวบินที่เดินทางมาจากหรือผ่านประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่ความเสี่ยงสูงที่เครือข่ายลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ มักจะใช้ขนส่งสินค้าผิดกฎหมายดังกล่าวเข้ามายังประเทศไทยโดยใช้วิธีการซุกซ่อนปะปนมากับสินค้าชนิดอื่น โดยเมื่อวันที่ 3 และ 4 มีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่ศุลกากรส่วนสืบสวนปราบปราม 3 สำนักสืบสวนและปราบปราม นำโดย นายเชาวน์ ตะกรุดเงิน และนายนิคม อังสกุลอาภรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการตรวจสอบรายการบัญชีสินค้าอากาศยาน ของสายการบินเอธิโอเปีย เที่ยวบิน ET 618 ของวันที่ 3 มีนาคม 2560 และ ET 628 ของวันที่ 4 มีนาคม 2560 สำแดงชนิดของสินค้าเป็น Rough Stone (หินยังไม่เจียระไน) จำนวน 8 หีบห่อและ 7 หีบห่อ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 1,026.60 กิโลกรัม และ 898.40 กิโลกรัม ตามลำดับ มีต้นทางบรรทุกที่ท่าอากาศยาน ลิลองเว (Lilongwe) ประเทศมาลาวี ผ่านกรุงแอดดีส อบาบา ประเทศเอธิโอเปีย เป็นสินค้าที่มีลักษณะตรงกับข้อมูลความเสี่ยง จึงได้ตรวจสอบด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ ผลการตรวจสอบพบวัตถุแปลกปลอมมีลักษณะคล้ายงาช้างปะปนอยู่กับสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายหิน จึงได้เฝ้าติดตามผู้ที่จะมาปฏิบัติพิธีการศุลกากร เพื่อรับสิ่งของดังกล่าว และเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2560
พบชาวแกมเบียเดินทางมายังคลังสินค้าเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อขอรับสินค้าเจ้าหน้าที่จึงได้เชิญตัวไปทำการตรวจสอบสินค้าร่วมกัน ผลการตรวจสอบพบ Rough Stone ตามที่ผู้นำเข้าสำแดง บรรจุอยู่ในลังกระดาษลูกฟูก และเมื่อเอาหินออกพบลังพลาสติกที่ซุกซ่อนใต้ก้อนหิน ภายในบรรจุงาช้าง จำนวน 422 ท่อน น้ำหนักประมาณ 330 กิโลกรัมเจ้าหน้าที่ฯ จึงควบคุมตัวและแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 และมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นำซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และนำของต้องห้ามต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พระพุทธศักราช 2469 ประกอบมาตรา 16 และมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 และนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สถิติปีงบประมาณ 2559 ถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรสามารถจับกุมงาช้างได้ 10 คดี จำนวนงาช้างของกลาง 115 กิ่ง 823 ท่อน มูลค่ารวมกว่า 90 ล้านบาท