นายควน ทวนยก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ปี 2553 ผู้เสนอโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพื้นฐานดนตรีหนังตะลุงแบบดั้งเดิม เปิดเผยว่า ดนตรีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาจิตใจของเยาวชน แต่ปัจจุบันพบว่าโรงเรียนต่างๆ ขาดแคลนผู้รู้ด้านดนตรีหนังตะลุง บางโรงเรียนต้องแก้ปัญหาโดยการจ้างผู้ที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือให้ครูประจำการที่มีความสามารถและมีความสนใจ สอนตามความรู้ที่มี ซึ่งอาจไม่ถูกต้องตามแบบแผนของดนตรีหนังตะลุง ดังนั้น ในฐานะที่ตนได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะเปิดรับเยาวชนและผู้ที่สนใจ จำนวน 50 คน เข้ารับความรู้เกี่ยวกับดนตรีหนังตะลุงแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติเครื่องดนตรีโหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ ในระหว่างวันที่ 27-28 มี.ค. นี้ ณ สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม)
นายควน กล่าวว่า การอบรมพื้นฐานดนตรีหนังตะลุงแบบดั้งเดิม เป็นการสานต่อองค์ความรู้จากครู อาจารย์ในสมัยกลางเอาไว้ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปในแนวดนตรีสากล เนื่องจากเกรงว่าต่อไปเยาวชนจะไม่รู้จักการเล่นดนตรีหนังตะลุงแบบดั้งเดิมอย่างถูกต้อง ที่ไม่เจือปนเครื่องดนตรีสากลเช่นปัจจุบัน โดยรูปแบบการอบรมมีทั้งบรรยายและฝึกปฏิบัติเครื่องดนตรีหนังตะลุง 5 ชนิด ได้แก่ โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถเล่นดนตรีหนังตะลุงแบบดั้งเดิม และนำไปถ่ายทอดต่อให้กับคนรุ่นหลัง ในที่สุดแล้วเครื่องดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ จะอยู่คู่กับภาคใต้ไปอีกนานแสนนาน
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าอบรมได้ฟรี รับจำนวนจำกัดเพียง 50 คน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา โทร. 074-260280, 074-336946 หรือ 084-9668731, 081-0994997