รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการสำนักงานรับบาลอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า การเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ของไทย นอกจากการต้องเร่งปฏิรูปความโปร่งใสในภาครัฐ การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการกระจายอำนาจ การศึกษาฯลฯ แนวทางการทำงานในส่วนดิจิทัลนั้นต้องมีการนำข้อมูลภาครัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและช่วยในการตัดสินใจแก้ปัญหาที่มีพลวัตที่รวดเร็วและซับซ้อน โดยรูปธรรมที่จัดเจนที่สุดคือ การสร้างชุมชนผู้ใช้ข้อมูล (Data Community Engagement) จะช่วยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กร ภาคเอกชน และภาคประชาชนสังคม มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมด้านการนำข้อมูลภาครัฐไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะชน
ในปีที่ผ่านมา สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ EGA (อีจีเอ) ได้นำข้อมูลเปิดจากภาครัฐผ่าน "GovChannel ศูนย์กลางบริการภาครัฐภาคประชาชน" ที่ "เว็บไซต์ data.go.th ศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ" มาแข่งขันพัฒนาแอปพลิเคชันต้อนแบบ ในโครงการ Open Data Hackathon และเปิดข้อมูลสู่สาธารณะ (Public Hearing) ทำข้อมูลให้เข้าใจง่ายโดยใช้วิธี Data Visualization หรือการทำ Infographic ส่งผลให้มีการนำข้อมูลเปิดภาครัฐมาวิเคราะห์และใช้งานให้เป็นประโยชน์ต่อทุกๆ ภาคส่วน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่สามารถตรวจสอบข้อมูลของภาครัฐได้ รวมถึงการสร้างประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
จากผลการจัดงาน International Open Data Day ปีที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดชุดข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประมวลผลได้ต่อกว่า 900 ชุดข้อมูล จากหน่วยงานทั้งสินกว่า 90 หน่วยงาน ที่ร่วมกันนำชุดข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐมาเปิดเผย ทำให้ในปีนี้ทั้ง DE และ EGA ได้เห็นแนวทางที่จะผลักดันหน่วยงานภาครัฐเข้ามาปฏิรูประบบข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล เพื่อสร้างเครื่องมือในการบริการสาธารณะใหม่ๆ ให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติร่วมกัน
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ในงาน International Open Data Day เมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศให้แต่ละหน่วยงานต้องนำชุดข้อมูลเข้าระบบ Open Data ถือเป็นภาคบังคับ แต่ต่อไปนี้จะเป็นในรูปของความสมัครใจมากขึ้นและมุ่งหวังจะเฟ้นหาชุดข้อมูลที่ตรงความต้องการของผู้ใช้และเกิดประโยชน์สูงสุด
ชุดข้อมูลในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการนำร่อง แต่ปีนี้ EGA จะทุ่มทรัพยากรเพื่อให้เกิดการนำชุดข้อมูลต่างๆไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริง และต้องเป็นชุดข้อมูลที่มีค่า (High-Value Datasets) โดยในปีนี้มีชุดข้อมูลที่ถือว่าเป็นเป้าหมายของ EGA ที่ต้องเร่งผลักดันให้นำมาเปิดเผยมากขึ้นเพื่อให้ตรงกับแผนรัฐบาลดิจิทัลที่มี 2 กลุ่มคือ 1.ข้อมูลที่แสดงโปร่งใสของภาครัฐ 2.ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการพัฒนาเมืองและการขนส่ง ทั้งหมดนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่ม High-Value Datasets ที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากในปีนี้และจะดำเนินการผลักดันการนำเข้าข้อมูลมิติอื่นในปีต่อๆ ไป
นอกจากนี้จะมีการเร่งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทำให้ทางฝั่งผู้ผลิตชุดข้อมูล และผู้นำข้อมูลไปใช้ ลดทอนเวลา ลดความยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มสร้างการให้บริการชุดข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบของ Public API ผ่านเว็บไซต์ api.data.go.th หรือเครื่องมือในการพัฒนา ซึ่ง EGA คาดหวังว่าในการพัฒนาช่วงต่อไปฝั่งผู้ผลิตชุดข้อมูลจะมี Tools ที่แปลงข้อมูลของตนเองเข้าสู่ระบบมาตรฐานได้ทันที นั้นคือเมื่อเปลี่ยนข้อมูลจากฝั่งผู้ผลิต ชุดข้อมูลกลางที่Share หรือแบ่งปันมาก็จะเปลี่ยนตามแบบทันทีหรือ Real Time เช่นกัน ในฝั่งผู้ใช้งานก็สามารถเลือกชุดคำสั่งให้โปรแกรมเข้ามาเรียกข้อมูลจากฐานกลางไม่จำเป็นต้องบันทึกเก็บไว้เอง ดังนั้นการประมวลผลก็จะถูกต้องรวดเร็ว รวมถึงการ Minor Change หรือการปรับโฉมในส่วนของเว็บไซต์ data.go.th ทั้งด้าน User Interface หรือหน้าตาของเว็บไซต์ ระบบ Search Engine และระบบอื่นๆ ที่จะเพิ่มความสะดวกในการเข้าใช้งานมากขึ้น