นายอารีย์ พุ่มเสนาะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทซี.ไอ. กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CIG) เปิดเผยว่า ภายหลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ และการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มดี จะทำให้ CIG โตเท่าตัวในอีก 3ปีข้างหน้า โดยวางเป้าหมายรายได้รวมจากธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่ไว้ที่ 2,000 –3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันประมาณ1,000 ล้านบาทในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา
"ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าจากการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ในธุรกิจหลักให้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งให้แข่งขันได้ดีขึ้น และการขยายการลงทุนผ่านการจัดตั้งธุรกิจใหม่ทีมีอนาคตจะส่งผลให้ ซี.ไอ. กรุ๊ปฯ ขยายตัวตามเป้าหมายคือจะโตอย่างน้อยเท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้า" นายอารีย์ กล่าวระหว่างการแถลงแผนธุรกิจปี 2560 ของ CIG
ส่วนในการวางเป้าหมายรายได้รวมในปี 2560 จะอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50 % จากปี2559 ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ประมาณหนึ่งพันล้านบาท โดยจะมาจากธุรกิจหลักประมาณ 1,000
ล้านบาท ธุรกิจใหม่ประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย รายได้ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายผนังฉนวนกันความร้อนKingspan ประมาณ 150 ล้านบาท จาก รายได้จากธุรกิจจำหน่ายเอธานอลจำนวน 50 ล้านบาท ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนธุรกิจศูนย์ซ่อมรถไฟฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการลงทุนยังไม่มีรายได้แต่จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามเพื่อสร้างความมั่นใจของผู้ถือหุ้นและการลงทุน การขยายการลงทุนใหม่ใน 2 ธุรกิจในเครือ คือ บริษัทสยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัทฟ้าขวัญทิพย์ จำกัด จะคำนึงถึงการลงทุนใน
ธุรกิจที่มีอัตราการคืนทุนเร็ว โดยวางเป้าหมายให้ทั้งสองธุรกิจจะมีการคืนทุนภายใน 5 ปีหลังจาก เริ่มดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับการจัดตั้งบริษัทสยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดบริษัทฯกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ วงเงินลงทุน และแนวทางระดมทุนที่เหมาะสม ในการขยายการลงทุนใหม่ครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยบริษัทฯวางเป้าหมายในการรักษาสัดส่วนที่หนี้สินต่อทุนของบริษัทให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2 จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.41
นายอารีย์กล่าวถึงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไปว่า ส่วนของธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายคอยล์ จะเพิ่มสัดส่วนการทำกำไรให้เพิ่มขึ้นในธุรกิจหลักด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์ ให้มีความครบวงจรมากขึ้น ตั้งแต่ระบบทำความเย็น ระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศ ระบบประหยัดพลังงาน และระบบผนังและหลังคาฉนวนกันความร้อน เพื่อมุ่งสู่ตลาด Green Building และรองรับกลุ่มลูกค้า ที่จะต้องเข้าสู่การดำเนินการตามการบังคับใช้ กฎหมาย และหลักเกณฑ์ ที่จะบังคับใช้ในมาตรฐานการก่อสร้าง ที่มีแนวโน้มเข้มงวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นายอารีย์ กล่าวถึงการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ที่มีแนวโน้มดีและมีความโดดเด่น ได้แก่ การจัดตั้งบริษัทสยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อรองรับการทำธุรกิจศูนย์ซ่อมรถไฟมาตรฐานครบวงจรแห่งแรกของประเทศ ตั้งแต่การซ่อมบำรุงหัวรถจักร เครื่องยนต์ โบกี้ผู้โดยสารและรถขนส่งสินค้าทุกประเภท โดยมีเป้าหมายเข้าเสนอให้บริการกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภาคเอกชน ได้แก่
กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์ เนื่องด้วยทราบว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยมีนโยบายที่จะควบคุมต้นทุนในการบริหารงานเพื่อลดภาระการขาดทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทั้งแก่ประชาชนและภาคเอกชน ดังจะเห็นได้จากการอนุมัติให้ทำการจัดหาหัวรถจักรใหม่จำนวน 50 คัน โดยวิธีการเช่าเป็นระยะเวลา 15 ปี ส่วนภาคเอกชนก็มีความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบต่างๆ ทางรางเพิ่มมากขึ้น เพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่ำกว่าทางรถยนต์ จึงต้องการได้รับการบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และตรงเวลา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ บมจ.ซี.ไอ.กรุ๊ป ตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจนี้
นางสาวรัตนกมล พุ่มเสนาะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.ไอ. กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายรายได้ในปี 2560 ทางบริษัทฯวางเป้าหมายรวมไว้ที่ 1,500 ล้านบาท ขยายตัวประมาณ 50% จากปี 2559 ซึ่งมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท จากการวางเป้าหมายรายได้จากการผลิตและจำหน่ายคอยล์ ระบบการปรับอากาศและระบบการควบคุมคุณภาพอากาศในอาคารขนาดใหญ่จำนวน 1,000 ล้านบาท และการลงทุนในธุรกิจใหม่ได้แก่การจำหน่าย ผนังฉนวนสำเร็จรูป ในปี 2560 มีรายได้ประมาณ 150 ล้านบาท ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายเอธานอลมีรายได้ประมาณ 50 ล้านบาท
โดยที่ผ่านมา บริษัทฯยังได้ทำการขายสิทธิในการเช่าและดำเนินการกิจการโรงแรมของ บริษัทในเครือ คือบริษัท เดอ ละไม จำกัด ที่บริหารจัดการโรงแรม 2 แห่งที่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ส่งผลให้ลดภาระต้นทุนบริษัทแม่ลงได้ถึงปีละ 19 ล้านบาท และจะมีรายได้จากการขายสิทธิเข้ามาอีกปีละประมาณ 20 ล้านบาท ส่งให้บริษัทมีฐานะการเงินดีขึ้นเกือบ 40 ล้านบาทต่อปี รวมถึงบริษัท เดอ ละไม จำกัด จะสร้างรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างเพิ่มอีกประมาณ 300ล้านบาท
นอกจากนี้ในระยะ 3 – 5 ปี บริษัทฯวางเป้าหมายการขยายตัวของรายได้ปีละเฉลี่ยประมาณ 50% และเป็นไปในลักษณะทยอยเพิ่มขึ้นและปรับตัวขึ้นเท่าตัวในปี 2562 หลังจากที่เริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจสยามเรลเวย์ฯ ภายหลังก่อสร้างเสร็จในปี 2561
นายเศกบุษย์ บัวดวง กรรมการบริหาร บริษัทสยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ความคืบหน้าในการดำเนินงานของบริษัท สยามเรลเวย์ฯ ณ ขณะนี้ บริษัทฯ ได้จัดหาที่ดินสำหรับดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เป็นพื้นที่มีขนาดเนื้อที่ 30 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ติดกับสถานีรถไฟบางน้ำเปรี้ยว ซึ่งจุดนี้มีความเหมาะสมที่จะสร้างศูนย์ซ่อมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเพราะอยู่ติดกับสถานีรถไฟ และเป็นเส้นทางรถไฟในสายหลัก(ตะวันออก) ที่จะได้รับการพัฒนาเป็นรางคู่(กำลังก่อสร้าง) และอยู่ในพื้นที่ส่งเสริมพิเศษระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC ) ของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศออกมาอย่างชัดเจน ทำให้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนการลงทุนจาก BOIและได้รับมาตรการพิเศษทางภาษี ฯ
และตามที่การรถไฟกำลังทำประชาพิจารณ์ขอบเขตการดำเนินงาน(TOR) โครงการเช่ารถจักรดีเซลไฟฟ้าเพื่อการขนส่งของการรถไฟฯ ( Diesel Electric Locomotive) จำนวน 50 คัน พร้อมการบำรุงรักษาโดยวิธีการเช่า ระยะเวลาเช่า 15 ปี นั้น ในสาระสำคัญของ TOR กำหนดให้ผู้เข้าเสนอราคาจัดหาโรงซ่อมบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถจักรของตนเอง เพื่อให้รถจักรนั้นมีคุณภาพสมบูรณ์พร้อมให้บริการตลอดอายุสัญญาเช่า ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้ที่เสนอราคาในโครงการนี้ จำเป็นต้องมีศูนย์ซ่อมบำรุงของตนเองหรือมีศูนย์ซ่อมที่มีมาตรฐานเป็นพันธมิตรร่วมด้วย ในโครงการนี้ ทางบริษัท สยามเรลเวย์ ฯ มีความพร้อมและยินดีที่จะเป็นส่วนที่ดูแลรับผิดชอบการซ่อมบำรุงให้กับผู้เสนอราคาทุกรายที่สนใจ คาดว่าโครงการนี้จะมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างภายในกลางปี60 นี้ คาดว่าจะส่งมอบรถจักรครบพร้อมให้บริการต้นปี 63 เป็นต้นไป
ศูนย์ซ่อมรถไฟนี้ประกอบด้วย โรงซ่อม 2 โรง รวม 13 รางซ่อม ขนาด 13 รางซ่อม สามารถรองรับการซ่อมบำรุงได้พร้อมกันคราวละ ไม่น้อยกว่า 60 คัน ใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ มีการเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ ทั้งจากอดีตวิศวกรและนายช่างจากการรถไฟ และช่างฝีมือทุกแขนงครบวงจร เพื่อให้การบริการที่มีคุณภาพ เป็นมาตรฐานสากล และตรงต่อเวลาด้วยความรวดเร็ว อันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการไว้วางใจของผู้ใช้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน และก่อสร้างแล้วเสร็จได้ภายใน 18 เดือน พร้อมเปิดบริการปลายปี 61ทำให้สามารถรับรู้รายได้ในราวปี 2562 เป็นต้นไป