ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างกระแสการรับรู้และการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องตามแนวทางประชารัฐ ภายหลังจากที่ทั้ง 3 ภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน คือ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เทศบาลเมืองแสนสุข และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีชลบุรี จำกัด ได้ร่วมกันเปิดเวทีระดมปัญหาและความต้องการจากผู้ค้าตลาดหนองมนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้
ทั้งนี้เนื่องจากตลาดหนองมนตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ถือเป็นตลาดชุมชนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับประเทศมาอย่างยาวนาน ในขณะที่บางแสนมีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากถึงปีละ 1,700,000-1,800,000 คนมีการจับจ่ายเฉลี่ยต่อหัวถึงคนละ 1,500 บาทกรณีพักค้างคืน แต่ระยะหลังมาประสบปัญหาจากปัจจัยหลายอย่าง ประกอบกับปัจจุบันซึ่งเป็นยุคแห่งการสื่อสารในโลกดิจิตอล การสื่อสารสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ จนทำให้เศรษฐกิจชุมชนรอบตลาดหนองมนอยู่ในภาวะถดถอย
ดังนั้นวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เทศบาลเมืองแสนสุข บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีชลบุรี จำกัด และบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมกันจัดประกวดภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ เปิดเวทีให้กับประชาชนทุกรุ่นทุกวัยทั้งในและต่างประเทศ ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ตลาดหนองมน ร่วมกันเสนอมุมมองสร้างสรรค์ที่มีต่อตลาดหนองมน ชลบุรี เพื่อนำแนวคิดต่างๆที่ได้ มาเป็นแนวทางในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนหนองมน ชลบุรี และภาคตะวันออกของไทย ให้กลับมามีชีวิตชีวา เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอีกครั้ง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในระดับต่อไป
สำหรับกติกาการประกวด ง่ายๆเพียงถ่ายรูปหรือคลิปวิดีโอแบบใดก็ได้ไม่จำกัดเกี่ยวกับตลาดหนองมน ชลบุรี ในมุมมองสร้างสรรค์ มีคำบรรยาย พร้อมข้อความตามกติกา ส่งมาที่แฟนเพจ "ตลาดหนองมน ชลบุรี" และติดตามผลทางแฟนเพจ "วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา" ชิงรางวัลเงินสดและสินค้าโอทอปหนองมน รวมมูลค่ากว่า 50,000 บาท ชิงรางวัลทุก 15 วัน และประกาศผลรอบชนะเลิศในวันที่ 20 เมษายน 2560 ทั้งนี้ไม่จำกัดเพศ,อายุและไม่จำกัดจำนวนครั้งในการส่งประกวด แต่ขอให้สร้างสรรค์โดนใจผู้ชมและกรรมการ ไม่คัดลอกผลงานใคร และผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา ในฐานะผู้ผลิตนิสิตในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก รองรับการพัฒนาในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกและเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) จะนำแนวคิดทั้งหมดที่ได้รับ มาเป็นส่วนหนึ่งให้กับนิสิตเพื่อดำเนินการวิจัย หรือจัดทำโมเดลและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อยกระดับเศรษฐกิจภาคตะวันออกและของประเทศในระดับต่อไป