(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/477666/International_Humanitarian_City.jpg )
หลังจากได้รับทราบข่าวเกี่ยวกับพายุไซโคลน องค์กรสมาชิกของ IHC ได้ขอความช่วยเหลือจากฝ่ายบริหาร IHC ฝ่ายบริหารจึงได้ประสานงานกับคณะกรรมการ IHC และท่านชีค โมฮัมเหม็ด ทรงอุปถัมภ์ด้วยการจัดหาเครื่องบินลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือประชาชนในมาดากัสการ์ โดยค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางอากาศอยู่ที่ราว 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (918,250 เดอร์แฮม)
นี่เป็นครั้งแรกที่ IHC ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติในทวีปแอฟริกา หลังจากที่เคยให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือในสถานการณ์ยืดเยื้อ มิใช่ภัยธรรมชาติอย่างเช่นในครั้งนี้
สิ่งของบรรเทาทุกข์เดินทางไปถึงกรุงอันตานานาริโว เมืองหลวงของมาดากัสการ์ ภายใน 9.5 ชั่วโมง และมีมูลค่ารวม 292,799 ดอลลาร์สหรัฐ (1,074,708 เดอร์แฮม) โดยสิ่งของที่จัดส่งประกอบด้วยยาและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน 50,000 คนเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO), ขนมปังกรอบให้พลังงานสูงพร้อมรับประทาน 300,000 แพ็ค สำหรับประชาชน 60,000 คนเป็นระยะเวลา 5 วัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการอาหารโลก (WFP), เต็นท์สำหรับประชาชนราว 20,000 คน จาก UNICEF รวมถึงผ้าใบกันน้ำและชุดอุปกรณ์ที่อยู่ฉุกเฉินจาก ADRA ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอที่ปฏิบัติงานในมาดากัสการ์ นอกจากนี้ UNHRD ยังให้การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือโลจิสติกส์ เพื่อตั้งศูนย์โลจิสติกส์สำหรับกระจายสิ่งของไปทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล
พายุไซโคลนเอนาโวพัดถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมาดากัสการ์ในเช้าวันที่ 7 มีนาคม โดยเคลื่อนตัวด้วยความเร็ว 200-300 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนกระทั่งวันที่ 8 มีนาคม พายุเอนาโวได้อ่อนกำลังลงจากระดับ "รุนแรง" เป็นระดับ "ปานกลาง" ด้วยความเร็วลมเฉลี่ย 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีความเร็วสูงสุด 112 กิโลเมตร/ชั่วโมง ประชาชนจำนวนมากที่บ้านเรือนถูกทำลายหรือถูกน้ำท่วมต่างอพยพไปอาศัยอยู่กับญาติในพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า ขณะที่บางส่วนต้องไปพักอาศัยตามโรงเรียน โบสถ์ และโรงยิม นอกจากนี้ ลมแรง น้ำท่วม และดินถล่ม ยังส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 183 ราย เสียชีวิต 50 ราย และสูญหายอีก 20 ราย ทว่าขอบเขตความเสียหายทั้งหมดยังไม่สามารถประเมินได้เพราะมีปัญหาด้านการสื่อสารและการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย
สิ่งของบรรเทาทุกข์ได้ถูกนำไปแจกจ่ายใน 15 พื้นที่ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหาร การศึกษา สุขภาพ โภชนาการ ที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม สุขอนามัย และความปลอดภัย อย่างไรก็ดี ยังต้องมีการลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์เพิ่มเติมทั้งทางเรือและทางเครื่องบินไปยังพื้นที่ประสบภัยที่เข้าถึงยาก โดยมีการขนส่งสิ่งของเพิ่มเติมไปยังเขตซาวาและอนาลันจิโรโฟเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมร่วมกันทุกวัน และได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมขึ้น ณ สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติในกรุงอันตานานาริโว
ติดต่อ: Chris Wilson สำนักงานประชาสัมพันธ์ โทร. +44(0)78-2487-5864
ที่มา: International Humanitarian City