นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด และอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประสบภัยทุกครัวเรือนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด อีกทั้ง น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ดังนี้ การให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย รวม 99 ราย ซึ่งได้จ่ายเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นค่าจัดการศพเรียบร้อยแล้วทุกราย สำหรับสมาชิกครอบครัวได้รับเงินสงเคราะห์ไม่ต่ำกว่า 107,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวได้รับเงินช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า 132,000 บาท การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย มีบ้านเรือนเสียหาย รวม 11,818 หลัง เสียหายทั้งหลัง 314 หลัง และเสียหายบางส่วน 11,504 หลัง ซึ่งได้ดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนแล้ว 10,684 หลัง คิดเป็นร้อยละ 90.40 อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,134 หลัง โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2560 การช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพ ทั้งด้านเกษตร ประมง และปศุสัตว์ จากการสำรวจมีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 54,014 ราย ซึ่งเกษตรกรทุกรายจะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2560 ด้านโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม ให้จัดทำแผนฟื้นฟู เพื่อซ่อมแซมถนน สะพาน ท่อลอดที่ได้ความเสียหายจากอุทกภัย โดยสำรวจและจัดหาแหล่งงบประมาณในการดำเนินการผ่านหน่วยงานรับผิดชอบหลัก การช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการตรวจรักษาโรคแก่ประชาชน การป้องกันและควบคุมโรคระบาดหลังน้ำลด รวมถึงจัดชุดปฏิบัติการเยียวยาด้านสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบภัย การฟื้นฟูด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นติดตามแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลระบบนิเวศ ทั้งบนบก ในน้ำ และทางทะเล ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบ ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่เกิดภัย หากการดำเนินการ ไม่แล้วเสร็จ จังหวัดสามารถเสนอเรื่องขอขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งอธิบดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีอำนาจอนุมัติในการขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่จังหวัดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม อีกทั้งให้จังหวัดประมาณการวงเงินงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมวางแผนการใช้จ่ายเงินทดรองราชการ รวมถึงจัดเตรียมข้อมูลการดำเนินโครงการให้พร้อม หากวงเงินทดรองราชการของจังหวัดไม่เพียงพอ ให้เสนอเรื่องมายังกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยทันที เพื่อประสานการปฏิบัติกับกระทรวงการคลังในการพิจารณาอนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการแก่จังหวัดอย่างเร่งด่วนต่อไป นอกจากนี้ หากจังหวัดมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการ กิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย หรือการดำเนินการ อื่นใดที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ให้จัดทำแผนงาน/โครงการ ส่งให้กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีต่อไปที่สำคัญ ขอให้จังหวัดเร่งชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนถึงนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ของผู้ประสบภัยทุกครัวเรือน อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยเร็ว
- พ.ย. ๒๕๖๗ ปภ.รายงานมีจังหวัดได้รับความเสียหายจากวาตภัย รวม 4 จังหวัด พร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- พ.ย. ๒๕๖๗ ปภ.รายงานมีพื้นที่ประสบวาตภัยในจังหวัดลำปาง เร่งสำรวจความเสียหาย - ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- พ.ย. ๒๕๖๗ ปภ.รายงานเกิดวาตภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย