จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า
ดวงตาถือเป็นอวัยวะที่สำคัญยิ่ง ที่ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน และทำให้เราสามารถทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการเดิน การออกกำลังกาย การทำงาน ในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก แต่หากดวงตาของเราประสบปัญหามีอาการตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด จะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้มักพบปัญหาดวงตาในผู้สูงอายุมากกว่าวัยหนุ่มสาว เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ที่ทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตยากขึ้นเพราะมองสิ่งต่างๆไม่ชัดชัด และด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมไปตามอายุ อาจทำให้ผู้สูงอายุหกล้ม ได้รับบาดเจ็บในส่วนอื่นๆของร่างกายได้
พญ.ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า เลนส์แก้วตาเป็นเลนส์นูนใสอยู่หลังม่านตา ทำหน้าที่หักเหแสงให้ตกโฟกัสพอดีที่จอประสาทตา เมื่อเลนส์แก้วตาเสื่อม จะทำให้สูญเสียความใสไป เลนส์แก้วตาเกิดความขุ่นขึ้น ทำให้แสงเข้าสู่จอประสาทตาลดลง มองภาพไม่ชัด เกิดภาวะ "ต้อกระจก" ซึ่งภาวะต้อกระจกพบได้ทั่วไปในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยมักเป็นต้อกระจกระยะเริ่มต้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น แต่เมื่อเวลาผ่านไป เลนส์แก้วตาขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆอย่างช้าๆ นานเป็นปี จนเริ่มบดบังการมองเห็นในที่สุด โดยไม่มีอาการตาแดงหรือเจ็บปวด การมองเห็นจะลดลงเมื่ออยู่ในที่ที่แสงไม่เพียงพอ เหมือนมองผ่านหมอกหรือกระจกที่ขุ่น ต้อกระจกบางชนิดจะทำให้ตามัวลงเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือเมื่อขับรถกลางคืนแล้วเห็นไฟหน้ารถที่ขับสวนมาแตกกระจาย ผู้ป่วยบางรายเห็นภาพซ้อนเมื่อดูด้วยตาข้างเดียว หากทิ้งไว้นานจนต้อสุก จะเห็นตาเป็นฝ้าขาวตรงกลาง ซึ่งในปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจตาได้ง่ายขึ้น หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรตรวจตากับจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูว่าท่านมีภาวะต้อกระจกหรือไม่ หรือมีภาวะอื่นร่วมด้วย เนื่องจากการขุ่นของเลนส์ตาจะเป็นไปอย่างช้าๆ จะทำให้ตาค่อยๆมัวลงช้าๆ สาเหตุที่มักพบในผู้ที่มีภาวะต้อกระจกส่วนใหญ่มักเกิดจากความเสื่อมตามวัย ส่วนมากพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยอายุที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้โปรตีนในเลนส์เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้ความใสของเลนส์ตาลดลง ผลจากยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ชนิดทาน หรือหยอด มีโรคประจำตัวที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจก เช่น เบาหวาน โรคอ้วน หรือเคยได้รับการบาดเจ็บและอุบัติเหตุทางตา มีการอักเสบหรือติดเชื้อบริเวณตา มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อกระจก ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มียากินหรือยาหยอดตาที่สามารถป้องกันต้อกระจกได้ แต่พบว่าผู้ที่ทำงานโดนแดดจัดๆเป็นเวลานานๆ เลนส์แก้วตาจะเสื่อมเร็วกว่าคนที่ไม่โดนแดด จึงแนะนำให้สวมใส่แว่นกันแดดเวลาออกแดดจัดๆ แต่ยังมีวิธีการรักษาต้อกระจกให้หายขาดได้โดยการผ่าตัด เนื่องจากไม่มียาใดๆรักษาได้ โดยการผ่าตัดต้อกระจกเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง มีโอกาสในการติดเชื้อน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ สามารถมองเห็นได้ดีขึ้นมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ หลังการนำเลนส์ที่ขุ่นออก จะมีการวางเลนส์แก้วตาเทียมใหม่เข้าไป ซึ่งจะอยู่ในตาอย่างถาวร ต้อกระจกจะไม่กลับมาเป็นอีกปัจจุบันการรักษาแบ่งเป็น 2 วิธีคือ 1. การผ่าตัดเปิดแผลเพื่อนำเลนส์แก้วตาออกมา (ECCE) เปิดแผลบริเวณขอบตาดำด้านบนยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร เพื่อนำเลนส์ออกมา จากนั้นจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียม และเย็บปิดแผล 2. การผ่าตัดแผลเล็ก และใช้การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กเพียง 2.2-3.0 มิลลิเมตร และใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ ทำให้ใช้เวลาผ่าตัดน้อยกว่า ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดได้เร็วกว่า ไม่ต้องเย็บแผล จักษุแพทย์ที่ชำนาญสามารถทำการผ่าตัดได้โดยใช้การหยอดยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องฉีดยาหรือดมยาสลบ การผ่าตัดจึงมีความปลอดภัยขึ้น ในปัจจุบันถือเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาต้อกระจก และผู้ที่จะเข้ารับการรักษาต้อกระจก ควรได้รับการตรวจและประเมินสภาพตาโดยละเอียดก่อน เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่าสภาพตาของผู้ป่วยเหมาะสมกับการรักษาหรือไม่ และเลนส์แก้วตาเทียมชนิดใดเหมาะสมกับสภาพตาของผู้ป่วยมากที่สุด
พญ.ชญาตา กล่าวว่าผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทันทีหลังตรวจพบ เนื่องจากภาวะ ต้อกระจกสามารถปล่อยทิ้งไว้ได้หลายปี หากยังไม่มีปัญหาการมองเห็นในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ตามหาก ต้อกระจกแข็งหรือสุกเกินไป จะทำให้ต้อกระจกแข็งมากขึ้น การผ่าตัดยากมากขึ้น หรือเกิดอาการต้อหินแทรกซ้อนได้ ดังนั้นจึงควรตรวจติดตามเป็นระยะๆกับจักษุแพทย์