ประชาชน 73.67% ยอมรับเคยทิ้งขยะลงในสถานที่สาธารณะ ร้อยละ 58.06 ระบุสาเหตุสำคัญที่สุดในการทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะคือความขี้เกียจมักง่าย

พฤหัส ๑๖ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๓๙
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะ ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 มีนาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,185 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ได้ลงประกาศ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมีใจความสำคัญว่า หน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดแยก เก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ รวมทั้งกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจนำสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่จัดเก็บได้ ไปใช้ประโยชน์หรือหาประโยชน์ได้ รวมถึงได้กำหนดบทลงโทษกับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดต่างๆที่ออกโดยท้องถิ่น ขณะเดียวกันได้มีการกำหนดอัตราทำเนียมในการจัดการขยะไว้ซึ่งสำหรับครัวเรือนทั่วไปต้องเสียค่าทำเนียม 150 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ปัญหาขยะมูลฝอยถือเป็นปัญหาสำคัญในเมืองใหญ่ต่างๆทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพมหานครและในจังหวัดใหญ่อื่นๆของประเทศไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามกำหนดมาตรการต่างๆมาบังคับใช้เพื่อลดปัญหาขยะมูลฝอยที่นับวันจะมีมากขึ้น เช่น การกำหนดอัตราค่าจัดการขยะครัวเรือน การกำหนดบทลงโทษผู้ที่ทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะต่างๆ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงการทิ้งขยะให้เป็นที่ หรือการแบ่งแยกถังขยะสำหรับขยะแต่ละประเภทเพื่อให้สะดวกในการทิ้งและการนำไปจัดการต่อไป แต่ปัญหาขยะมูลฝอยยังคงไม่หมดไป โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือพฤติกรรมของผู้คนในสังคมบางส่วนที่ไม่เห็นสำคัญของการทิ้งขยะให้เป็นที่และความมักง่ายในการทิ้งขยะ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะ โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 มีนาคม พ.ศ. 2560

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.55 เพศชายร้อยละ 49.45 อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับสถานที่สาธารณะที่กลุ่มตัวอย่างพบเห็นขยะมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ บริเวณโคนต้นไม้/ในพุ่มไม้/กระถางต้นไม้คิดเป็นร้อยละ 84.73 พื้นถนน/บาทวิถี/สะพานลอยคิดเป็นร้อยละ 82.36 บริเวณที่มีการจัดงาน/กีฬา/คอนเสิร์ตต่างๆคิดเป็นร้อยละ 80.08 บนเก้าอี้/ม้ายาวในสถานที่สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 76.96 และข้างเสาไฟฟ้า/ตู้โทรศัพท์/ตู้ไปรษณีย์คิดเป็นร้อยละ 73.5

ในด้านพฤติกรรมการทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.03 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยอ่านป้าย/สัญลักษณ์บอกประเภทขยะที่ติดอยู่ข้างถังขยะก่อนทิ้งขยะเลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.08 ระบุว่าเคยอ่านก่อนบ้างเป็นบางครั้ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 17.89 ระบุว่าเคยอ่านก่อนทุกครั้ง

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 81.35

ยอมรับว่าตนเองเคยทิ้งขยะลงในถังขยะสาธารณะที่ตั้งอยู่ใกล้ตนเองที่สุดโดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นถังสำหรับประเภทขยะที่ทิ้งหรือไม่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.67 ยอมรับว่าตนเองเคยทิ้งขยะลงในสถานที่สาธารณะ เช่น พื้นถนน/บาทวิถี ใต้ต้นไม้/กระถางต้นไม้ ข้างเสาไฟฟ้า ในท่อระบายน้ำ เป็นต้น ในกรณีที่ไม่พบถังขยะสาธารณะในบริเวณที่ตนเองอยู่

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการทิ้งขยะลงในสถานที่สาธารณะ เช่น พื้นถนน/บาทวิถี โคนต้นไม้/ในพุ่มไม้/กระถางต้นไม้ ข้างเสาไฟฟ้า พื้น/เก้าอี้ในอาคารสาธารณะ ในท่อระบายน้ำ บริเวณการจัดงานต่างๆ เป็นต้น นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.06 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากความขี้เกียจมักง่ายมากที่สุด ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในห้าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 19.75 ระบุว่าไม่มีถังขยะ/มีถังขยะไม่เพียงพอ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.05 และร้อยละ 8.02 ระบุว่าถังขยะอยู่ไกลและไม่มีถังขยะสำหรับประเภทขยะที่จะทิ้งตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.12 ระบุว่าเกิดจากสาเหตุอื่นๆ

ในด้านความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.13 มีความคิดเห็นว่าหากมีการจัดจุดทิ้งขยะขนาดใหญ่เป็นการเฉพาะให้จะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะขนาดใหญ่ เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำลำคลองได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.89 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มอัตราโทษกับผู้ที่ทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะให้หนักขึ้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้คนนำขยะไปทิ้งลงในถังขยะมากขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.08 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มอัตราค่าเก็บขยะสำหรับครัวเรือนให้สูงขึ้นจะไม่มีส่วนช่วยลดปริมาณขยะลงได้

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.11 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดอัตราค่าจัดเก็บขยะ 150 บาทต่อเดือนสำหรับแต่ละครัวเรือนเป็นอัตราที่ไม่แพงเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.59 ระบุว่าแพงเกินไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.3 ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมระหว่างการกำหนดอัตราค่าเก็บขยะอัตราเดียวทุกครัวเรือนกับการกำหนดอัตราค่าเก็บขยะตามปริมาณขยะในแต่ละครัวเรือน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.28 มีความคิดเห็นว่าการคิดอัตราค่าเก็บขยะตามปริมาณขยะของแต่ละครัวเรือนมีความเหมาะสมมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.72 มีความคิดเห็นว่าการคิดอัตราค่าเก็บขยะอัตราเดียวทุกครัวเรือนเหมาะสมกว่า

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ