คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมผลักดัน Smart Hospital ร่วมมือกับทีเซล ฟีโบ้ และ สุพรีม ไฮทีร่า พัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวสู่ “ศิริราช 4.0”

พฤหัส ๑๖ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๔๗
กลุ่มงานด้านสาธารณสุข เป็นหนึ่งในองค์ประกอบแนวคิดเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ทั้งในแง่การพัฒนาอุตสาหกรรมบริการด้านการแพทย์ นวัตกรรมและเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต และในแง่การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยการก้าวสู่ Smart Health หรือ Smart Hospital จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด ได้ร่วมกันศึกษา แก้ไข และพัฒนาหุ่นยนต์จ่ายยา เพื่อสร้างประโยชน์ด้านความรวดเร็วในการให้บริการผู้ป่วย ลดเวลาในการรอคอย ลดความผิดพลาดและลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS) ให้การสนับสนุนในส่วนของการพัฒนาในเบื้องต้นและประสานงานด้านอื่นๆ ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงประโยชน์ของหุ่นยนต์และระบบจ่ายยาดังกล่าว ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำนวัตกรรมมาพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็น ศิริราช 4.0 จึงเกิดการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง 4 องค์กรดังกล่าว และช่วยผลักดันแนวทาง Smart Hospital ในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า "หลังจากที่รัฐบาลประกาศแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ไทยแลนด์ 4.0 โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล รวมถึงทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนนั้น หลายๆ ภาคส่วนก็ได้พยายามสร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงนโยบายและบริบทต่างๆ ทั้งนี้โรงพยาบาลศิริราชเอง ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และได้ปรับระบบการบริการหลายๆอย่าง เพื่อก้าวสู่การเป็น ศิริราช 4.0 เช่นกัน และความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ ในภาพรวมจะทำให้ศิริราช เกิดระบบบริหารและจัดการยาแบบอัตโนมัติสำหรับผู้ป่วย โดยเน้นไปที่บริบทของประเทศไทย อีกทั้งเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพของเภสัชกรที่กำลังขาดแคลนอยู่ได้ และ โครงการติดตั้งและพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตามนโยบายดังกล่าวเช่นกัน"

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS) เปิดเผยว่า "ด้วยพันธกิจของ TCELS ที่จะส่งเสริมและสนับสนุน การสร้างองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้เกิด ผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เมื่อทางบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า ได้นำความคิดในการพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติมานำเสนอกับทีเซล ซึ่งเรามองเห็นว่าความคิดนี้ ถ้าสามารถต่อยอดในการสร้างแนวความคิดนี้ให้เกิดขึ้นจริง จะเป็นประโยชน์ด้านสาธารณสุขในภาพรวมได้อย่างแน่นอน เราจึงติดต่อไปยังสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) เพื่อพัฒนาจากไอเดียมาเป็นหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ โดยมีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรแกรมในช่วงเริ่มต้นการสร้างหุ่นยนต์ B-Hive 1 จนประสบผลสำเร็จ และหลังจากโรงพยาบาลศิริราชได้ตอบรับแนวคิดในการนำหุ่นยนต์จ่ายยามาใช้ในโรงพยาบาล TCELS ก็ได้ร่วมศึกษา พัฒนาและวิจัยร่วมกับศิริราช ฟีโบ้ และ บริษัทสุพรีม จนเกิดความร่วมมือในการพัฒนาจากหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ ให้เกิดเป็นระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร ซึ่งหลังจากนี้ ทีเซลจะคอยช่วยประสานงานในส่วนอื่นๆ เพื่อให้ความร่วมมือที่เกิดขึ้น บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) เปิดเผยว่า "ฟีโบ้ ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการสร้างหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ ซึ่งเบื้องต้น เราได้สร้างหุ่นยนต์ต้นแบบ B Hive 1 ขึ้นสำเร็จในปี 2558 ที่ผ่านมา นับเป็นความภาคภูมิใจของนักวิจัยไทย ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ที่มาจากเอกชน อุตสาหกรรมหรือสังคมอย่างแท้จริง โดยเราได้ต่อยอดจากการสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบ มาสู่การสร้าง "ระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร" ซึ่งจะนำมาติดตั้งและใช้งานในโรงพยาบาลศิริราชเป็นแห่งแรก เพื่อทดสอบและพัฒนาให้เกิดการใช้งานที่สมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง"

นายกำธร กาญจนวตี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด เปิดเผยถึงแนวคิดว่า "จากประสบการณ์ในการทำงานในวงการเครื่องมือแพทย์กว่า 35 ปี บริษัทฯ ได้เล็งเห็นว่า การใช้ Bot หรือหุ่นยนต์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการของโรงพยาบาล น่าจะสามารถลดเวลาในการรอคอยและลดความผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์ได้ จึงได้นำไอเดียในการสร้างหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ มานำเสนอ TCELS ซึ่งจากจุดนี้ทำให้เราได้ร่วมกับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) ในการสร้างระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร ด้วยฝีมือนักพัฒนาและนักวิจัยของไทยได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ทั้งนี้การส่งเสริมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยโดยฝีมือคนไทยที่มีมาตรฐานสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจาก นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อทำให้เกิดขึ้นได้จริง ต้องขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ทีเซล ฟีโบ้ และ โรงพยาบาลศิริราช ที่ทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้น"

การลงนามบันทึกความเข้าใจ 4 องค์กร สู่ศิริราช 4.0 ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS), สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด จะทำให้เกิดความร่วมมือในระดับนโยบาย และเป็นก้าวแรกของการผลักดันให้เกิด Smart Hospital ขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช ทั้งนี้ ภายใต้การลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว จึงเกิด "โครงการติดตั้งและพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร" ขึ้น ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลศิริราช และ บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด ในการติดตั้ง และพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจรร่วมกัน

ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยว่า "ปัจจุบัน โรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยที่เข้ามารับการบริการจากโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โครงการติดตั้งและพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร จะเป็นก้าวใหม่ของโรงพยาบาล ที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยลดปัญหาด้านต่างๆ และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชสามารถให้บริการกับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหลังจาก การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการติดตั้งและพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร ระหว่าง โรงพยาบาลศิริราช และ บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัดในวันนี้แล้ว ก็จะมีการริเริ่มดำเนินการในส่วนของการก่อสร้างและติดตั้งระบบ รวมถึงการทดสอบการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน และจะเปิดใช้งานได้จริงช่วงประมาณปลายปี 2560 โดยหุ่นยนต์จ่ายยานี้สามารถรับใบสั่งยาโดยตรงจากแพทย์ผู้รักษา ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และจัดยาประเภทต่าง ๆ ด้วยความถูกต้องรวดเร็ว ทำให้ 95% ของใบสั่งยามีระยะเวลาการจัดยาไม่เกิน 15 นาทีแม้ในช่วงเร่งด่วนและจัดยาส่งไปยังเภสัชกรผ่านระบบสายพานลำเลียงได้อย่างครบวงจร"

นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 จะนำมาซึ่งความร่วมมือจากทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชน ในรูปแบบประชารัฐ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ก้าวทันโลกได้อย่างแท้จริง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version