เพราะนพ.วิชัย ใช้อำนาจของการเป็นประธานกรรมการ IFEC ชี้ "ถูก" "ผิด" ตามอำเภอใจของตัวเอง โดยอ้างอำนาจทางกฎหมาย ตามพ.ร.บ.มหาชน ซึ่งหลายฝ่ายกำลังตั้งคำถาม...และขีดเส้นใต้ตัวใหญ่ๆ หนาๆ ว่า จริงๆ แล้วชอบด้วยกฎหมายหรือไม่????
แล้วอนาคตของ IFEC จะเป็นอย่างไร หากปล่อยให้เวลาล่วงเลย...
ปิดงบไม่ทัน....เจ้าหนี้ตั๋วบี/อี หุ้นกู้ ถูก "ชักดาบ" ผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นพันรายต้องเดือดร้อน ผู้ถือหุ้นรายย่อยหลายหมื่นรายไม่มีทางออก ไม่รู้ชะตากรรมตัวเอง..ติดหุ้น โดยไม่รู้ว่าจะถูกแขวน SP ยาวนานแค่ไหน
นั่นก็เพราะว่าทุกอย่างอยู่ในมือของประธานบอร์ด IFEC ที่เวลานี้ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่เขากับทำตัว "ใหญ่"คับฟ้า เป็นผู้ชี้ชะตา IFEC ในขณะนี้
การประชุมคณะกรรมการวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา... ถือเป็นวันที่รอคอยของพวกเราผู้ถือหุ้นทุกคน และเจ้าหนี้ทั้งหลาย แต่กลับต้องมาจบลงที่วาระที่ 1 เท่านั้น โดย "ทวิช เตชะนาวากุล"ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการของ บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ให้ความเห็นหลังจากที่คณะกรรมการในฝั่งของตนเองซึ่งมีอยู่ 5คน ตัดสินใจวอล์คเอาท์
โดย "ทวิช" ได้ไล่เลียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 15.30น. ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ผลของการเลือกตั้งกรรมการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ได้กรรมการใหม่แทนกรรมการเก่า จำนวน 7 คน มีกรรมการใหม่จำนวน 3 คน ต้องออกตามวาระ ได้แก่ พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ, คุณสมชาย สกุลสุรรัตน์ และคุณปริญญา วิญญรัตน์ ซึ่งทุกคนรับทราบ
ประธานได้แจ้งที่ประชุมต่อว่า กรรมการที่ได้รับเลือกเข้ามาใหม่ต้องไปรับหน้าที่ และสวมตำแหน่งในกรรมการชุดย่อยแทนกรรมการที่ออกไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น "กรรมการ ก." ก่อนลาออก เคยเป็นกรรมการตรวจสอบ กรรมการที่บริษัทจัดให้แทน "กรรมการ ก." ต้องเข้าสวมหน้าที่แทน "กรรมการ ก." ด้วย เกิดข้อโต้แย้งขึ้น โดยพวกเรามีความเห็นว่า ผู้ถือหุ้นเลือกกรรมการใหม่มาแทนกรรมการเก่าเท่านั้น ส่วนหน้าที่ของกรรมการชุดย่อย เช่น กรรมการตรวจสอบหรือกรรมการสรรหาฯ เป็นหน้าที่ของกรรมการชุดใหม่ ที่จะต้องพิจารณาแต่งตั้งมอบหมายให้ตามคุณสมบัติที่เหมาะสม ซึ่ง นพ.วิชัย ได้อ้างถึงมาตรา 83 พรบ.มหาชน แต่พวกเรากรรมการ 5 คน เห็นว่า เป็นการตีความเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
และที่สำคัญกรรมการใหม่ที่ได้รับแต่งตั้งแทน อาจไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมหรือตรงกับคุณสมบัติของกรรมการที่ออกไป เช่น เอากรรมการบริหารไปแทนกรรมการตรวจสอบ ซึ่งทำไม่ได้ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทที่จะต้องพิจารณา และแต่งตั้งตามคุณสมบัติที่เหมาะสมของกรรมการแต่ละท่าน พวกเราเสนอให้ฝ่ายกฎหมาย นำไปพิจารณาก่อน และแต่งตั้งกรรมการชุดย่อยในอีก 2-3 วันก็ได้
แต่นพ.วิชัย ปฎิเสธ พร้อมยืนยันว่า ต้องแต่งตั้งภายในวาระนี้ ซึ่งน่าสังเกตว่า วาระนี้ คือ วาระที่ 1 ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบเท่านั้น ก็หมายความว่า นพ.วิชัย ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จบังคับแต่งตั้ง โดยอ้างถึงมาตรา 83 ซึ่งพวกเราเห็นว่า ไม่ถูกต้อง เมื่อนพ.วิชัย ยืนยันว่า ต้องแต่งตั้งภายในการประชุมวาระที่ 1 และไม่ฟังเสียงของกรรมการคนอื่นที่โต้แย้งว่า เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง
"ผมจึงได้พูดให้ที่ประชุมคณะกรรมการว่า พวกเรากรรมการที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น จำนวน 5 คน และถือหุ้นมากกว่าฝ่ายนพ.วิชัย เท่ากับว่า ผู้ถือหุ้นมอบอำนาจในการบริหารให้กับพวกเรา และในช่วงระยะเวลา 3เดือนที่ผ่านมา กรรมการชุดเก่าประสบความล้มเหลวในการบริหาร บริษัทขาดทุนมหาศาล อีกทั้งยังไม่สามารถชำระตั๋วB/E ที่สูงถึง 2,000 ล้านบาทได้ และกำลังจะถูกเจ้าหนี้หุ้นกู้เข้ารุมเร้าทวงถามอีก จำนวน 3,000 ล้านบาท รวมถึงหุ้นของบริษัทถูกขึ้น SP มาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2560 อีก"
ที่สำคัญบริษัทปิดงบการเงินไม่ได้ตามกำหนด ตรงนี้ไม่แน่ใจว่า ผู้สอบบัญชีไม่กล้าปิด หรือบริษัทไม่ส่งข้อมูลรายละเอียดให้ผู้สอบบัญชี ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ไม่ทราบว่า บริษัทจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไร
"ผมเสนอให้เปลี่ยนประธานกรรมการ โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ เป็นประธานกรรมการใหม่แทน ทางนพ.วิชัย ก็ไม่รับ พวกเราเห็นว่า ไม่มีข้อยุติตั้งแต่วาระที่ 1 แล้ว โดยนพ.วิชัย ได้รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ยอมรับฟังความเห็นกรรมการชุดใหม่ จำนวน 5 คน ที่เสนอต่อที่ประชุมไป ซึ่งการแสดงพฤติกรรมที่เป็นการขัดขวางและไม่ให้ความร่วมมือตั้งแต่เริ่มประชุม จึงเป็นจุดที่พวกเราเห็นว่า ไม่สามารถร่วมประชุมต่อไปได้ จึงเดินออกจากที่ประชุมไปในเวลา 16.20 น. หลังจากใช้เวลาการประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ไม่มีการพิจารณาวาระอื่นใดอีก"
ผมสรุปว่า นพ.วิชัย ต้องการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเองทั้งหมด และไม่คิดจะให้ร่วมมือในการบริหารกับกรรมการชุดใหม่ สังเกตได้จากหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการที่มีถึง 9 วาระใหญ่ 7 วาระย่อย แต่ไม่มีเอกสารแนบให้พิจารณาแม้แต่แผ่นเดียว เอกสารในที่ประชุมก็ไม่ครบถ้วน ไม่มีโอกาสพูดถึงความคืบหน้าการสอบบัญชีและการส่งงบ และที่แปลกใจที่สุดเย็นวันนั้น บริษัทกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 เมษายน 2560 มีแต่วาระเลือกตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการที่ต้องออกตามวาระ โดยขาดวาระที่สำคัญที่สุด คือ การรับรองงบการเงินของบริษัท ซึ่งเป็นหัวใจของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี ที่ผู้ถือหุ้นทุกคนเฝ้ารอ อยากทราบผลประกอบการที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร
แต่นพ.วิชัย กลับชิงความได้เปรียบใน "อำนาจ" ที่มีอยู่และรีบกำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ภายหลังที่กรรมการ 5 คน ออกมาจากที่ประชุมแล้ว โดยองค์ประชุมเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ จำนวนกรรมการเหลือไม่ครบองค์ประชุม มีเพียง 4 คน จากทั้งหมด 9 คน ดังนั้นจึงไม่ทราบว่า IFEC ยังจะดำเนินการประชุมต่อไปได้อย่างไร และถูกกฎหมายหรือไม่