ทิศทางการสร้างรายได้ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่

อังคาร ๒๑ มีนาคม ๒๐๑๗ ๐๙:๑๒

กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

Mobile World Congress ที่ผ่านพ้นไป นอกจากจะมีการนำเสนอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น 5G, IoT, Smart cities, AR/VR และอื่นๆ อีกมาก แต่ที่น่าสนใจคือการนำเสนอปัญหาของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่และทางออกที่เป็นไปได้ ซึ่งอาจพลิกโฉมรูปแบบทางธุรกิจของค่ายมือถือทั่วโลก

เป็นครั้งแรกที่สมาคมผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSMA มีประธานเป็นชาวเอเชีย คือ Mr. Sunil Bharti Mittal จากอินเดีย ซึ่งได้แถลงถึงสภาพการณ์และทิศทางของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า ในปัจจุบันผู้ใช้บริการเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี แต่รายได้เติบโตเพียงร้อยละ 3 ส่วนปริมาณการใช้ Data ผ่านมือถือเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องลงทุนโครงข่ายปีละประมาณสองแสนล้านเหรียญสหรัฐ หากไม่มีการปรับทิศทางอุตสาหกรรม ต่อไปนำเงินจำนวนนี้ไปฝากธนาคารอาจได้ผลตอบแทนที่ไม่ต่างไปจากการนำมาดำเนินธุรกิจมือถือ แล้วยังมีเวลาเหลือไปทำกิจกรรมอื่นได้อีก นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมมือถือในสายตาผู้บริโภค ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมยาสูบ ทั้งที่มือถือเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตยุคปัจจุบัน ประธานGSMA ได้เสนอว่า ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีส่วนหนึ่งมาจากปัญหา Bill Shock จึงต้องมุ่งจัดการปัญหาค่าโรมมิ่งระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการมือถือเมื่อผู้บริโภคเดินทางไปต่างประเทศ ในส่วนการลงทุนโครงข่ายนั้นผู้ประกอบการต่างค่ายอาจต้องจับมือกันหรือเปิดให้มีการใช้งานโครงข่ายร่วมกัน คล้ายคลึงกับการวางเคเบิ้ลใต้สมุทรที่เป็นการร่วมลงทุนของผู้ประกอบการหลายราย และในบางประเทศอาจมีการควบรวมค่ายมือถือเพื่อให้มีจำนวนที่เหมาะสม รัฐบาลมักมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมมือถือสร้างรายได้เข้ารัฐและมุ่งหวังให้มีการแข่งขันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ที่สวนทางกัน จึงเรียกร้องให้พิจารณาอุตสาหกรรมมือถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจดิจิตัล มิใช่เป็นตัวสร้างรายได้มหาศาลโดยตรง จึงควรปรับอัตราค่าธรรมเนียมหรือภาระภาษีให้เหมาะสมกับสภาพอุตสาหกรรมในขณะนี้

อย่างไรก็ดี มีผู้ร่วมเสนอมุมมองที่น่าสนใจ ต่อทิศทางของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนี้

ในอดีต อุตสาหกรรมมือถือเชื่อมั่นว่า อนาคตของอุตสาหกรรมจะรุ่งโรจน์ เพราะประชาชนต้องใช้มือถือในชีวิตประจำวัน เสมือนหนึ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ที่ขาดไม่ได้ และคาดหวังว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนจากการโทรคุยกัน มาเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ค่ายมือถือจะมีผู้ใช้งานหลายพันล้านคน และจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากมาย อีกทั้งสิทธิ์ในการครอบครองคลื่นความถี่ ทำให้ผู้เล่นอื่นไม่สามารถมาช่วงชิงตลาดได้โดยง่าย

แต่ในความเป็นจริง เมื่อผู้บริโภคใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากขึ้น ค่ายมือถือต้องลงทุนโครงข่ายเพิ่มขึ้น แต่รายได้กลับไปงอกเงยกับผู้ประกอบการ OTT (Over The Top) อย่าง Facebook หรือ Google ประชาชนคิดว่าตนใช้งานบริการของ OTT ต่างๆ มากกว่าใช้งานโครงข่ายมือถือ ซึ่งเป็นเพียงเสมือนถนนหรือท่อรับส่งข้อมูลแบบ Dumb Pipe ในส่วน OTT ก็มีรายได้จากการโฆษณาและมีข้อมูลการใช้งานจำนวนมหาศาล (Big Data) ที่นำไปต่อยอดทางธุรกิจได้อีกมาก

แม้แต่บริการรับส่งข้อความผ่านมือถือ ก็เปลี่ยนจาก SMS ซึ่งเป็นรายได้ของค่ายมือถือ ไปสู่ Messaging App ต่างๆ และบาง App ได้พัฒนาตนเองไม่ใช่เป็นเพียงบริการสื่อสารข้อความ แต่เป็น Platform ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยรวม เช่น WeChatหรือ Line ซึ่งให้บริการช่องทางสื่อสารกับบริษัทห้างร้านต่างๆ ผ่าน Official Account บริการชำระเงินหรือซื้อสินค้าออนไลน์ บริการข่าว และภาพยนตร์ เป็นต้น แต่หากเกิดปัญหาในการใช้งาน หรือการถูก Hack ข้อมูล ผู้บริโภคมักจะหันมามองค่ายมือถือเพื่อให้รับผิดชอบปัญหาที่พบเจอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาจนโครงข่ายมือถือเป็นโครงข่ายอัจฉริยะ (Intelligent Network) ไม่ใช่เพียง Dumb Pipeอีกต่อไป อุตสาหกรรมมือถือจึงมีโอกาสที่จะปรับโฉมเพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ค่ายมือถือโดยตรง แทนที่รายได้จะวิ่งไปเข้ากระเป๋า OTTได้แก่ การขายบริการโครงข่ายคุณภาพสูงให้อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยตรง ด้วยเทคโนโลยี Network Function Virtualization และSoftware-Defined Network หรือแม้แต่การสร้างรายได้จาก Big Data ซึ่งค่ายมือถือต่างมีข้อมูลที่อาจจะมากกว่าข้อมูลที่ OTT มีด้วยซ้ำ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการสร้างรายได้จากข้อมูลโดยไม่ละเมิดต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการเปลี่ยนให้โครงข่ายมือถือเป็นเกทเวย์สู่บริการออนไลน์อื่นๆ

ตัวอย่างเช่น แนวคิด Messaging as a Platform (MAAP) เนื่องจากค่ายมือถือมีจุดแข็งเรื่องการดูแลความปลอดภัยและคุณภาพของระบบรับส่งข้อมูล การให้บริการ MAAP แทน OTT จึงน่าจะมีความปลอดภัยและคุณภาพที่ดีกว่า และเป็นช่องทางในการทำธุรกรรมออนไลน์ที่สะดวกและปลอดภัยกว่าเว็บไซต์แบบเดิมๆ เพราะผู้บริโภคคุ้นเคยกับการสื่อสารแบบบสนทนาผ่านการพิมพ์หรือการคุย (Conversation) มากกว่าการคลิกเมนูและการกรอกข้อมูลต่างๆ ในเว็บเพจ การเป็น Platform จะทำให้บริษัทห้างร้านต่างๆ มาให้บริการผ่าน Official Account และการใช้ Artificial Intelligence อย่าง Chat Bot ในการสนทนากับผู้บริโภคก็จะมีประสิทธิภาพและประหยัดกว่าการประกอบธุรกิจรูปแบบเดิม

และปฏิเสธไม่ได้ว่า สัดส่วนบริการที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงสุดคือ Video Streaming แม้แต่การฟังเพลง ผู้บริโภคก็เปลี่ยนจากการโหลดเพลงมาเก็บในมือถือแล้วเปิดฟัง เป็นการฟังผ่านบริการ Streaming ดังนั้น Premium Content จึงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ การควบรวมกิจการระหว่าง AT&T และ Time Warner แสดงให้เห็นถึงรูปแบบธุรกิจใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการ Content ผ่านผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยมี User Interface ที่ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน คือ App หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นแหล่งรวมบริการต่างๆ ไว้ด้วยกัน

ในประเทศไทย เราเริ่มเห็นผู้ให้บริการมือถือหลายรายเปิดตัวความร่วมมือกับ Premium Content ต่างๆ เพราะนี่คือรูปแบบของการสร้างรายได้ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานในปัจจุบัน

โดยสรุป ข้อเสนอจากฝั่งผู้ประกอบการก็คือ อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่มีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ไม่สูงนัก การสร้างรายได้ใหม่ๆ จึงมีความจำเป็น ได้แก่ รายได้จาก Big Data รายได้จากการเป็น Internet Platform รายได้จากบริการ Premium Content และรายได้จากการให้บริการโครงข่ายเฉพาะกับอุตสาหกรรมอื่นๆ และทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในยุค Intelligent Network

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ