รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร(MPPM Executive program) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐ แถลงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเริ่มลงมือปฏิบัติตามแนวทางที่ให้ไว้ ได้ส่งผลดีต่อทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงต้นปีดีขึ้น ซึ่งสะท้อนผลเชิงบวกต่อยอดค้าปลีกสินค้าและบริการในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น 5.6% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ขณะที่อัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลง 2 เดือนติดต่อกันตั้งแต่ต้นปีที่หรือจากระดับ 4.8% มาอยู่ที่ 4.7% ในเดือนกุมภาพันธ์รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี59ก่อน โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมปีนี้อยู่ที่ 2.5% ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณดีขึ้น ย่อมส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับสองด้วยสัดส่วนกว่า 15.5% ของ GDP โลก
ทั้งนี้ จากแนวนโยบายของนายทรัมป์ที่ต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยเร่งแก้ไขปัญหาการว่างงานด้วยการสร้างตำแหน่งงานให้เพิ่มมากขึ้น การจำกัดแรงงานต่างด้าว การเพิ่มอัตราค่าจ้างซึ่งมีผลดีต่อกำลังซื้อและมาตรการทางภาษีซึ่งจูงใจภาคธุรกิจแล้ว รวมถึงการดึงเงินทุนกลับประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 1.0% เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้เงินดอลล่าร์ไหลกลับเข้าประเทศ สอดรับแนวนโยบาย "making America great again" คาดการได้ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลต่างประเทศในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง
ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM NIDA กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง หรือเคลื่อนไหวประมาณ 35.5 – 36.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีของภาคการส่งออก เนื่องจากราคาสินค้าไทยจะถูกลงในมุมมองของต่างประเทศ ประกอบกับ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯที่มากถึง 7% ของมูลค่าการส่งออกรวม ทำให้มูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นได้ และเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวไปด้วยเช่นกัน
ส่วนนโยบายของสหรัฐฯ เรื่องการกีดกันการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับจีนนั้น ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ที่มีโอกาสเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น หลังจากผู้ประกอบการจากจีนมีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตในไทยเพิ่มขึ้นดังเช่นในอดีตที่ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งย่อมส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น
"ไทยจะได้ประโยชน์จากมาตรการกีดกั้นทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน โดยผู้ประกอบการจีนจะเข้ามาลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จึงไม่ต้องกังวลกับทิศทางเฟด เพราะโดยภาพรวมแล้ว ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อไทยเป็นไปในเชิงบวกทั้งสิ้น รศ.ดร.มนตรี กล่าว