IOD ผลสำรวจ IOD ชี้กรรมการไทยควรพัฒนาความรู้ด้านกฎหมาย

อังคาร ๒๑ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๕๙
จากที่มีการแก้ไข้กฎหมายหลายฉบับที่สำคัญต่อการทำหน้าที่กรรมการบริษัท ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของกรรมการไทย ว่า ร้อยละ 38 ของกรรมการเห็นว่าการขาดความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย เป็นข้อจำกัดสำคัญที่กระทบประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย ในขณะที่อีกร้อยละ 36 เห็นว่าข้อจำกัดมาจากระบบการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ

หลังงานเสวนาเรื่อง พ.ร.บ. ความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 ฉบับใหม่ ที่จัดโดย IOD เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ได้มีการสำรวจความคิดเห็นกรรมการบริษัทที่เข้าร่วมในงาน และมีกรรมการร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 82 คน ร้อยละ 70 เห็นว่า พรบ. ฉบับใหม่นี้ ซึ่งส่งผลให้มีการแก้ไขบทบัญญัติในเรื่องความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลในกฎหมายอื่นๆ อีก 76 ฉบับ เหมาะสมต่อการสนับสนุนให้กรรมการบริษัททำหน้าที่ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในขณะที่ร้อยละ 13 เห็นว่ายังควรปรับปรุงกฎหมายให้เน้นการปฏิบัติอย่างเข้มงวดมากขึ้น

"การที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่าการขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นกฎหมายของกรรมการเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมาย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาความรู้ในเรื่องกฎหมาย ซึ่งที่สำคัญคือความรับผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการทำหน้าที่กรรมการ เพราะหากกรรมการไม่ทราบหรือทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็อาจส่งผลให้ต้องรับโทษตามกฎหมายโดยไม่รู้ตัวได้" ดร. บัณฑิต กล่าว

"ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เรามีกฎหมายดีๆ อยู่เยอะ แต่อย่างที่เห็นในหลายๆ กรณี แม้จะมีกฎหมายดี แต่เมื่อไม่มีการบังคับใช้ให้เกิดผลจริงก็ไม่มีประโยชน์"

จากผลการสำรวจ กรรมการร้อยละ 21 มองว่าตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ชัดเจน และรัดกุมเพียงพอ เปิดช่องให้มีการทำผิดกฎหมายได้ง่าย ในขณะที่กรรมการร้อยละ 5 เห็นว่าข้อจำกัดสำคัญคือบทลงโทษยังไม่รุนแรงพอ ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว

ในประเด็นเรื่องการรับรู้ภาระความรับผิดตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการนั้น ร้อยละ 78 ระบุว่ากรรมการในบริษัทของตนรับรู้หลักการสำคัญของภาระความรับผิดตามกฎหมาย ในขณะที่ร้อยละ 16 ระบุว่ากรรมการในบริษัทยังไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติหน้าที่มีภาระความรับผิดทางกฎหมายอย่างไร โดยมีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ที่ตอบว่ากรรมการในบริษัทเข้าใจภาระความรับผิดตามกฎหมายในรายละเอียดเป็นอย่างดี

สำหรับประเด็นที่กรรมการที่ตอบแบบสอบถามต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่กรรมการ ได้แก่ การเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมกับกรรมการ และบริษัทที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขึ้นบัญชีดำกรรมการ และบริษัทที่กระทำความผิดอย่างเปิดเผย รวมถึงให้มีการปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อให้การคัดเลือกกรรมการ และการกำหนดคุณสมบัติกรรมการมีความรัดกุมมากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย