สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่ www.sci.tu.ac.th
รศ. ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระแสการเติบโตของนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เกิดการแข่งขันสูงอันนำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นการที่จะเท่าทันกับกระแสนวัตกรรมของโลก สถาบันการศึกษาซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการผลิตบุคลากรยุคใหม่ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว ต้องทำการปรับตัวให้เท่าทันกับโลก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้เดินหน้าผนึกเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงาน และบริษัทชั้นนำต่างๆ กว่า 30 แห่งทั่วโลก เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บุคลากร เทรนด์และกระแสต่างๆ ที่ทันสมัยของโลก ผสมผสานกับการเรียนรู้แบบเน้นการประยุกต์ใช้ เสริมองค์ความรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และบริหารธุรกิจ (SCI + BUSINESS) อันเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์และสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริง
รศ.ปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเครือข่ายความร่วมมือของคณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี มธ. ครอบคลุมสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับนานาชาติ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรโตเกียว (NODAI) ประเทศญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรร่วมกัน มหาวิทยาลัยฝูเจิน แคทอริก ประเทศไต้หวัน ผู้นำด้านการออกแบบแฟชั่นที่มีเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่นเข้มแข็งเป็นอันดับต้นๆ ของไต้หวัน ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาเพื่อเรียนรู้งานดีไซน์ในเชิงลึก สถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน (DigiPen) ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลคอนเทนต์ระดับโลก ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรเพื่อปั้นนักพัฒนาเกมและแอนิเมเตอร์ไทยร่วมกัน มหาวิทยาลัยบลอค ประเทศแคนาดา ผู้นำด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของแคนาดา ผ่านการพัฒนางานวิจัยด้านสถิติ และการคิดค้นทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ในมิติใหม่ร่วมกัน และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียวถง (NCTU) ประเทศไต้หวัน ผู้นำวิทยาการด้านนาโนเทคโนโลยีของไต้หวัน ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และอาจารย์ร่วมกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร และบริษัทเอกชนชั้นนำอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ สมาคมสภาวิชาการอุตสาหกรรมเกษตร (AUCFA) เพื่อสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกันระหว่างสภาคณบดีประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย สู่การสร้างความเป็นเลิศการศึกษาด้านอุตสาหกรรมเกษตรในระดับอาเซียน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรและการเทียบหลักสูตรระหว่างสถาบัน การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ บริษัท โฮริบะ (ไซเอนติฟิกส์) จำกัด ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ให้พร้อมประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรม ผ่านการจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านวัสดุ เพื่อพัฒนางานวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พร้อมเปิดบริการให้คำปรึกษาวิจัยสำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อีกทั้งบริษัทเอกชนชั้นนำอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เครือเบทาโกร และ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด โดยมีความร่วมมือในการเปิดรับนักศึกษาฝึกงานในภาคเรียนฤดูร้อน และส่งวิทยากรพิเศษมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงลึกด้านการอาหาร เคมี และเทคโนโลยีชีวภาพ แก่นักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (iSC) เป็นต้น รศ.ปกรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายความร่วมมือที่กล่าวมาข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนการสอน งานด้านวิชาการ งานวิจัย สร้างสรรค์ให้เกิดเป็นบุคลากรและนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ของประเทศที่มีมาตรฐานระดับสากล โดยทางคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ยังคงเร่งเดินหน้าหาช่องทางเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และองค์กรชั้นนำในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้วงการการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยก้าวทันกระแสโลกดิจิทัลที่หมุนผ่านอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์คณะ ที่มุ่งบ่มเพาะและผลักดันศักยภาพบัณฑิตผ่านการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างด้านวิทยาศาสตร์และการจัดการ (SCI+BUSINESS) เพื่อปั้นบัณฑิตให้มีความรู้เชี่ยวชาญพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ควบคู่กับทักษะด้านการบริหาร สู่การเป็นนักวิทย์ที่มีหัวคิดประกอบการได้อย่างยั่งยืน รศ.ปกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นางสาวณิชนันทน์ หะยีลาเต๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ได้กล่าวถึงความประทับใจและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเปิดประสบการณ์ที่ต่างประเทศว่า เมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสไปฝึกงานกับเจ้าของฟาร์มเกษตร ที่เมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฟาร์มที่แบ่งพื้นที่ทำการเกษตรได้อย่างลงตัว โดยจะประกอบด้วย นาข้าวสาลี แปลงมะเขือเทศเชอร์รี่ ไร่บลูเบอร์รี่ และฟาร์มหอมหัวใหญ่ ซึ่งระหว่างการฝึกงานได้ทดลองใช้นวัตกรรมอุปกรณ์การเกษตร เช่น "อุปกรณ์ขุดดิน-พร้อมไถกลบขนาดเล็ก" อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายพลั่ว ซึ่งจะช่วยลดแรง-เวลาในการปลูกผักหรือเพาะกล้า เพียงใส่ต้นกล้าลงไปในช่องของอุปกรณ์ พร้อมปักลงในดิน จากนั้นตัวอุปกรณ์จะทำการขุดหลุม หย่อนต้นกล้า และกลบดินให้อัตโนมัติ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าว ถือเป็นอุปกรณ์การเกษตรที่ทันสมัยและแปลกใหม่สำหรับการทำเกษตรไทย นอกจากนี้ ยังได้ทดลองขายบลูเบอร์รี่ที่ตลาด โดยเลือกเขียนภาษาไทยกำกับไว้ที่ฉลากสินค้า เพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้า และสร้างความแตกต่าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะลูกค้าสนใจซื้อจำนวนมาก ทำให้ตนรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ภายหลังจบการศึกษา ตั้งใจนำทุกองค์ความรู้และเทคนิคการเกษตรใหม่ๆ ที่ได้ ไปพัฒนาแพ็คเกจจิ้งให้เหมาะกับสินค้าเกษตรของไทย รวมถึงอุปกรณ์การเกษตรให้ทันสมัยและทุ่นการใช้แรงงานคนมากยิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่ www.sci.tu.ac.th