นางมัลลิกา ภูมิวาร ที่ปรึกษาภาคเอกชนจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่เสียภาษีสรรพสามิตและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ศุลกากรและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จากโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี คอนซัลติ้ง ให้ความเห็นว่า "อธิบดีกรมสรรพสามิตได้เน้นย้ำว่าอัตราที่ประกาศขณะนี้เป็นเพดานการจัดเก็บ แต่สำหรับอัตราการเก็บจริงจะมีการประกาศอีกครั้ง โดยอยู่บนหลักการที่ไม่สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคตามหลักรายได้คงเดิม (Revenue Neutrality) ตรงนี้ภาคเอกชนก็ยังรอดูความชัดเจน แต่ก็ชื่นชมมิติใหม่ของการนำระบบการจัดเก็บภาษีแบบผสมเข้ามาใช้อย่างจริงจัง เก็บทั้งตามปริมาณและตามมูลค่า ซึ่งล้วนเป็นทิศทางที่เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลและจะช่วยลดช่องว่างในการจัดเก็บภาษีได้จริง ระบบเดิมก็เคยมีแต่เราไปเก็บแบบ 2 เลือก 1 ซึ่งทำให้ภาระภาษีไปอิงตามมูลค่าเยอะ เกิดช่องว่างให้รัฐเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดหน่วย เพราะของถูกย่อมจ่ายภาษีถูกตามมูลค่า ทำให้ธุรกิจต่างหาทางลดภาระภาษีด้วยการออกสินค้าราคาถูกมาตีตลาด จนในที่สุดกรมฯ ไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า ที่เห็นชัดที่สุดก็คงจะเป็นภาษียาสูบที่แม้จะขึ้นภาษีไปชนเพดาน 90% แล้วแต่ยอดการจัดเก็บภาษียาสูบในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ยังคงต่ำกว่าเป้าอยู่มาก เพราะบุหรี่ราคาถูกเข้ามาตีตลาดจนตอนนี้เรียกได้ว่ามากกว่าครึ่งของบุหรี่ที่ขายในประเทศตอนนี้เป็นบุหรี่ราคาถูกที่ราคาต่ำกว่า 65 บาท การนำขาปริมาณ (หรือน้ำหนัก) มาใช้ถือเป็นแนวทางที่ยอมรับในระดับสากล เช่น ในสหภาพยุโรปเองก็กำหนดให้เก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบแบบผสมโดยบุหรี่ทุกแบบต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกัน และยังสอดคล้องกับข้อแนะนำการเก็บภาษียาสูบจากองค์การระหว่างประเทศชั้นนำอย่างองค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศและยังตอบโจทย์ด้านการควบคุมการบริโภคด้วย"
ทั้งนี้ นางมัลลิกา เสริมว่า บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการร่างกฎหมายลูก พร้อมกับย้ำว่าระบบภาษีที่ดีต้องไม่ซับซ้อนเพื่อให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามได้อย่างชัดเจนและไม่เกิดการตีความที่คลุมเครือ ลดช่องว่างให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี เป็นธรรม โปร่งใส และมีความเป็นสากล เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นในสายตาของนานาประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ต่อไป