ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในปัจจุบันรัฐบาลมีแนวคิดในการพัฒนาประเทศไทยให้ไปสู่ยุค 4.0 คือการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศจึงได้กำหนดนโยบายที่เรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 ขึ้น ทั้งนี้ไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยในยุคไทยแลนด์ 4.0 นี้คือการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เช่น ในด้านการเกษตรคือเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming ในด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคือเปลี่ยนจากการบริหารแบบเดิมไปเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง ด้านบริการคือเปลี่ยนจากรูปแบบบริการแบบเดิมซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่บริการที่มีมูลค่าสูง และในด้านแรงงานคือเปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้และทักษะสูง แต่อย่างไรก็ตามยังมีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่าเป็นอย่างไรและจะมีประโยชน์รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของตนได้อย่างไรถึงแม้รัฐบาลจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารความรู้เกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ผ่านช่องทางต่างๆอย่างต่อเนื่อง จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เป็นเพศชายร้อยละ 50.64 เพศหญิงร้อยละ 49.36 สามารถสรุปผลได้ดังน ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.43 ไม่ทราบว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.57 ทราบว่าไทยแลนด์ 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมโดยนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพของสินค้าและบริการให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.15 ทราบว่าวัตถุประสงค์หลักของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.85 ยอมรับว่าไม่ทราบ
สำหรับช่องทางที่กลุ่มตัวอย่างได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มากที่สุด 3 อันดับได้แก่ สื่อเว็ปไซด์ต่างๆคิดเป็นร้อยละ 83.74 ระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆคิดเป็นร้อยละ 81.46 และสื่อโทรทัศน์คิดเป็นร้อยละ 79.09 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.25 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 บ้างเป็นบางช่วง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.91 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามตลอด อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างถึงเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.84 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้ให้ความสนใจติดตามเลย
ในด้านความคิดเห็นต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.22 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้แล้ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.61 มีความคิดเห็นว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้า/บริการต่างๆของประเทศได้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.95 มีความคิดเห็นว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะมีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิต/คุณภาพสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าว พืช ผัก ผลไม้ ได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.74 เชื่อว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้นได้จริง อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.83 ไม่เชื่อว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้สูงขึ้นได้จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.36 ไม่เชื่อว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชากรในประเทศได้จริง และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.1 มีความคิดเห็นว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะส่งผลให้หน่วยงาน/องค์กรต่างๆมีแนวโน้มลดการจ้างแรงงานมนุษย์ลง
ส่วนสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยควรปรับปรุงพัฒนามากที่สุด 5 อันดับตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างเพื่อสนับสนุนให้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ประสบความสำเร็จคือ การสนับสนุนเงินทุนในการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆคิดเป็นร้อยละ 83.15 การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในด้านต่างๆคิดเป็นร้อยละ 81.2 การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในด้านต่างๆคิดเป็นร้อยละ 78.32 การปรับปรุงระบบ/ขั้นตอนทางราชการให้รวดเร็วขึ้นคิดเป็นร้อยละ 75.61 และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพคิดเป็นร้อยละ 72.48