ดร.ภัสสร สังข์ศรี วิทยากร กล่าวว่า การนำความคิดสร้างสรรค์ไปผลิตรายการเสียงตามสาย ภายในชุมชนได้อย่างสนุกสนาน มีความชัดเจนว่าความรู้ที่นักศึกษาเรียนในห้องเรียนสามารถประยุกต์ใช้ได้จริง โดยเป็นการยืนยันแนวคิดของมหาวิทยาลัย เรื่องการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ถึงแม้ว่าการศึกษาในระดับปริญญาโทจะให้ความสำคัญกับการวิจัย แต่หลักสูตรก็ยังไม่ละเลยการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง
ผศ.ดร.ณัฐวิภา สินสุวรรณ วิทยากร กล่าวว่า แนวทางการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาให้ความสำคัญกับการให้คนในชุมชนประชาสัมพันธ์กันเอง เช่น เรื่องโรคระบาดตามฤดูกาล หรือแม้แต่เรื่องภายในชุมชนเอง เช่น ความปลอดภัยของชุมชน ดังนั้น การมาเป็นวิทยาการในครั้งนี้ เพื่อให้คนในชุมชนให้สามารถสื่อสารและประชาสัมพันธ์เรื่องราวต่างๆ ผ่านสื่อที่มีในชุมชนได้อย่างเหมาะสม
ศิรินทร์ รอมาลี (ฮัทตี้) นักศึกษาปริญญาโท เล่าว่า การพวกเราได้ไปจัดกิจกรรมบริการวิชาการที่ชุมชนหมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การอ่านและการจัดรายการ กฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อมวลชน ทำให้พวกเราได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนาน โดยส่วนใหญ่ผู้เข้าอบรมเป็นผู้สูงอายุ จึงจัดกิจกรรมแบ่งกลุ่มให้ระดม ความคิดตามหัวข้อบรรยาย โดยพวกเราได้ร่วมเป็นวิทยากรและแบ่งทีมงานดูแลในแต่ละฝ่าย เช่น พิธีการ สวัสดิการอาหาร ถ่ายภาพ และฝ่ายเทคนิค ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้จะสำเร็จไปไม่ได้ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
กมลทิพย์ รุ่งประเสริฐ (รุ้ง) นักศึกษาปริญญาโท เล่าว่า พวกเราตั้งใจไปจัดเตรียมความพร้อมกันตั้งแต่เช้า ไม่นาน คุณลุง คุณป้า และพี่ๆ ผู้เข้าอบรม ก็เริ่มทยอยกันมาลงทะเบียน เป็นประสบการณ์ที่ดีครั้งหนึ่งในการเรียน เพราะส่วนมากเราจะเรียนแต่ในตำรา พอได้ลงพื้นที่จริงๆ ทำให้รู้ว่าสื่อเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ในชุมชนนั้นมีความสำคัญมากในชุมชน ช่วยกระจายข่าวสารให้สมาชิกชุมชนได้ทราบอย่างทั่วถึง และสร้างความสามัคคีภายในชุมชนได้อีกด้วย และ พวกเราก็ได้จัดกิจกรรมสันทนาการเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศไม่ให้ผู้เข้าอบรม เป็นการสร้างสีสันอย่างหนึ่งที่ทำให้คณะผู้จัดงานเองก็สนุกสนานและสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้เข้าอบรมไปตามๆ กัน
นางนงคราญ วิไลเลิศ ผู้นำชุมชน รู้สึกยินดีมากที่นักศึกษา และ อาจารย์ ได้เข้ามาให้ความรู้กับชุมชน เพราะปัจจุบันทุกชุมชนมีเสียงตามสายของตนเอง แต่ยังไม่รู้หลักการที่ถูกต้องเท่าที่ควร และ อยากให้มีโครงการแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่ชุมชนจะได้เชื่อมความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย และ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งความรู้ที่ได้นั้นมีประโยชน์กับชุมชนมาก ในเรื่องของการทำรายการเสียงตามสาย และการประกาศข่าวภายในองค์กร อีกทั้งความรู้นี้จะยังสืบไปในชุมชนอีกด้วย
นางสว่างจิต วีระวงศ์ ผู้เข้าอบรม เล่าว่า การได้มาอบรมในครั้งนี้ทำให้ได้ความรู้ในการไปปฏิบัติงานเสียงตามสายอย่างมากมาย ซึ่งในตอนแรกก็มีความตื่นเต้น ไม่รู้ว่าตัวเองจะสามารถจัดรายการเสียงตามสายได้ดีหรือไม่ แต่พอได้เข้าร่วมโครงการก็รู้สึกสนุกสนานและผ่อนคลาย และชอบที่ได้ทำกิจกรรม การเขียนบท การฝึกใช้ไมโครโฟน และการอ่านออกเสียง กับนักศึกษา อาจารย์ และเพื่อนๆในชุมชน
ขณะนี้ทางคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ได้เปิดรับสมัครในระดับปริญญาโทตั้งแต่บัดนี้ – 17 เมษายน 2560 ผู้สนใจดูรายละเอียดและดาวน์โหลดระเบียบการสอบคัดเลือก และสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.grad.rmutt.ac.th สอบถามเพิ่มเติมโทร.02 549 3619