รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า "ประเทศไทยในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกวงการ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ หลายภาคส่วนต้องปรับตัวให้ทัน ภาคการศึกษาก็เช่นกัน ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง (Educational Transformation) และสอนให้นักศึกษาปรับเปลี่ยนวิธีคิด โดยให้เห็นความสำคัญของนวัตกรรมที่เริ่มมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนี้ระยะหนึ่งแล้ว จึงได้เป็นผู้นำด้านการเรียนการสอนผ่านระบบ Digital Hybrid Learning System ที่ได้รับการยกย่องจาก Apple ในฐานะ Distinguished School ด้านการเป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน"
"นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยฯ เน้นการสร้างเด็กหัวการค้าสายพันธุ์ใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE: Innovation Driven Entrepreneurs) โดยจับมือกับ MIT (Massachusetts Institute of Technology) และร่วมมือกับแพลทฟอร์ม E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Alibaba Group จัดการแข่งขัน Young Ali Hero คัดเลือกนักศึกษาที่มีสินค้าและแบรนด์เป็นของตัวเอง พร้อมตะลุยส่งออกไปยังตลาดโลก" รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ กล่าว
ในปีการศึกษา 2560 คณะต่างๆ ปรับตัวเตรียมรุกยุคดิจิทัลด้วยสาขาใหม่ล่าสุดที่นำนวัตกรรมมาเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น สาขาเทคโนโลยีดิจิทัล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สาขาเทคโนโลยีทางการเงิน (Fin Tech) คณะวิศวกรรมศาสตร์, สาขาการประกอบการดิจิทัล วิทยาลัยผู้ประกอบการ และกลุ่มวิชาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ เป็นต้น
ด้านวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่นำรายได้เข้าประเทศไทย จึงได้ยกระดับหลักสูตรที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะใหม่ ได้แก่ "คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ" (School of Tourism and Services) รวมถึงเปิดสาขาที่จะนำสีสันของวัฒนธรรมมาช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับเด็กหัวการค้า เช่น สาขาภาษาไทยและภาษาอาเซียนธุรกิจ ที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนที่จะเป็นประโยชน์ในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ภาษามาเลย์ ภาษาเวียดนาม และภาษากัมพูชา และสาขามีเดียดีไซน์ คณะนิเทศศาสตร์
พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประกาศพลิกโฉมหน้ากลุ่มวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) เพราะในยุค Disruptive ความรู้ต้องมีการผสมผสานข้ามสาย และต้องนำไปใช้ได้จริง ในสมัยนี้การเรียนการสอนเน้นการปฏิบัติ (Practice) ให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์จริง เรียนรู้นอกห้องเรียน ลดความสำคัญของการสอบลง โดยเพิ่มวิชาให้หลากหลาย เช่น วิชาการประกอบการเชิงนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทำธุรกิจได้จริงตั้งแต่ยังเรียนอยู่ รวมถึง วิชา Digital Coding, วิชาการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์, วิชากระบวนการคิดเชิงออกแบบ และวิชาปรัชญาความรัก เป็นต้น เพื่อนักศึกษาทุกคนจะได้เลือกเรียนเป็นทักษะพื้นฐาน นำไปต่อยอดความรู้ในศาสตร์ที่แต่ละคนสนใจ และสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในธุรกิจยุคดิจิทัล
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ เชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะช่วยให้เด็กหัวการค้าประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้เร็วขึ้นตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และนำพาธุรกิจให้เติบโตไปได้อย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ต้องการหาความรู้ และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้ทันกับความท้าทายของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้จัดตั้ง "คณะวิทยพัฒน์" ซึ่งมีพันธกิจหลักในการพัฒนาหลักสูตรทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่หยุดนิ่งของผู้เรียน สร้างความแตกต่างให้เป็นผู้ประกอบการที่เหนือกว่าทางธุรกิจ