นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย เผย “ส.ค.อ. ซินโดรม” โรคใหม่ของผู้สูงวัยยุค 4.0 แนะเรียนรู้ให้เท่าทันและใช้พอประมาณ เชื่อมสัมพันธ์ครอบครัวและสร้างสุขยั่งยืนได้

จันทร์ ๐๓ เมษายน ๒๐๑๗ ๑๗:๒๐
สมาคมบ้านปันรัก จัดเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ "ส.ค.อ. (ส่งความสุขออนไลน์) ซินโดรม โรคใหม่ของผู้สูงวัยยุค 4.0" เผยข้อมูลน่าสนใจอันนำไปสู่การเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้น และสร้างความสุขให้ผู้สูงวัยอย่างยั่งยืนผ่านสื่อออนไลน์ ต้อนรับวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายนที่กำลังจะมาถึง โดย ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัยและนายกสมาคมบ้านปันรัก และอาจารย์กนกกาญจน์ บัญชาบุษบง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประสานเสียงระบุโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสู่ยุคสังคมออนไลน์เต็มตัว กลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้โซเชียลออนไลน์แต่พอดีถือเป็นกลุ่มคนที่มีความสุขมากที่สุด พร้อมแนะให้เรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีบ้างเพื่อประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร เชื่อมสัมพันธ์ครอบครัวและสร้างสุขอย่างยั่งยืน

ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัยและนายกสมาคมบ้านปันรัก กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบภายใน พ.ศ. 2568 และคาดว่าอีกประมาณ 15 ปีประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุยิ่งยวด คือ มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ในสภาพสังคมยุคโซเชียลฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น การปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของผู้สูงวัยจึงเป็นประเด็นที่สังคมควรให้ความสำคัญ เพื่อช่วยลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย และช่วยให้ผู้สูงวัยได้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและเห็นคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้ เทคโนโลยียังช่วยให้ผู้สูงวัยได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในโลกที่ไร้พรมแดน และยังช่วยลดปัญหาสุขภาพได้อีกด้วย

"ในโอกาสที่วันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายนกำลังจะมาถึง ทำให้รู้สึกห่วงใยและเห็นใจบรรดาผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่กับลูกหลาน เพราะโดยปกติแล้วในอดีตที่ผ่านมาในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้ ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ ลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นจะพากันเดินทางกลับบ้านไปรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่กัน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถพูดคุยกันได้ตลอดเวลาผ่านโซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้สูงวัยควรจะเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็นและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อได้พูดคุยกับคนในครอบครัว" ดร.วีรณัฐ กล่าวเสริม

"อย่างไรก็ดี ยังมีผู้สูงวัยบางส่วนที่ยังมีปัญหาอยู่ อาจจะเป็นเพราะไม่สามารถที่จะเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ เพราะไม่มีใครสอน หรือบางกลุ่มไม่เปิดใจยอมรับก็สุดแท้แต่ ทว่า ในกลุ่มผู้ที่ใช้เป็นแล้วแต่กลับติดโซเชียลมากเกินไป ก็ถือว่าไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเช่นกัน ดังนั้น สมาคมบ้านปันรักจึงจัดเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ "ส.ค.อ. (ส่งความสุขออนไลน์) ซินโดรม โรคใหม่ของผู้สูงวัยยุค 4.0" เพื่อเชื่อมความสุขในครอบครัวและสร้างความสุขให้ผู้สูงวัยอย่างยั่งยืนผ่านสื่อออนไลน์รับวันผู้สูงอายุนั่นเอง" ดร.วีรณัฐ กล่าว

ด้าน อาจารย์กนกกาญจน์ บัญชาบุษบง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้สูงอายุเมื่อเกษียนอายุจากการทำงานก็จะเป็นกลุ่มที่มีเวลาว่างมาก จนทำให้เกิดความเหงา หรือมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นกลุ่มที่ต้องการการพูดคุย การเอาใจใส่และต้องการสื่อสารกับคนในครอบครัวมากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันไลน์ เป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มคนเหล่านี้ ทั้งนี้ สำหรับผู้สูงอายุนั้น สื่อสังคมออนไลน์ เป็นช่องทางการสื่อสารที่ช่วยให้คลายความเหงา ความคิดถึงลูกหลาน ที่อาจมีเวลามาพบปะกันไม่บ่อยนัก การสื่อสารของกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะถนัดในการส่งภาพ คลิปวีดีโอ หรือการคุยแบบเห็นหน้ากันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มากกว่าการพิมพ์ข้อความ ดังนั้นลูกหลาน เมื่อจะสื่อสารกับผู้สูงอายุในครอบครัว จึงควรเลือกใช้วิธีดังกล่าว มากกว่าพิมพ์ข้อความ ที่ผู้สูงอายุอาจจะติดขัดด้านการอ่าน

ดนิตา กมลงาม อายุ 66 ปี หนึ่งใน สว. ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เผยว่า จากที่ตนมาได้เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ความรู้และข้อแนะนำดีๆ สำหรับการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพราะบางครั้งตัวเราเองเพลิดเพลินกับการใช้สื่อเหล่านี้มากเกินไปโดยที่เราไม่รู้ตัว ด้วยความคิดที่ว่าเราจะต้องตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้งก็ลืมไปว่าถ้าหากเราจมอยู่กับโลกโซเชียลมากเกินไปไม่ใช่เฉพาะกับผู้สูงวัยเท่านั้น กลุ่มลูกหลานคนรุ่นใหม่ก็เช่นเดียวกัน จากที่จะใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์กลับส่งผลเสียทั้งในด้านอารมณ์ การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงด้านร่างกาย อาทิ ปวดหลัง ปวดตา ปวดไหล่ ล้วนเกิดจากการใช้โซเชียลแบบไม่รู้เท่าทัน ในการเสวนาวิทยากรได้ให้ความรู้ที่ดีมาก จึงอยากบอกต่อเพื่อนๆ สว. ว่าหลังจากที่เราเล่นโซเชียลมีเดียเสร็จแล้ว ควรเว้นระยะเวลาในการใช้ออกไปอีก 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ กับคนครอบครัว และไม่ควรเล่นเกินวันละ 3 ชั่วโมงต่อวัน จากผลงานวิจัยของดร. วีรณัฐ โรจนประภา จะทำให้เรามีความสุขในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นความรู้ใหม่และเป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงวัยที่ใช้โซเชียลมีเดียอยู่เป็นประจำ ควรนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้มีความสุขต่อไป

ด้านสายสุนีย์ แก้วกาญจนสกุล อายุ 68 ปี ผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งยังมีผู้สูงอายุอยู่จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยกิจกรรมที่ตนสนใจมากที่สุดก็คือ กิจกรรมการสอนถ่ายภาพเพราะเป็นเรื่องที่ตนยังไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งเรื่องการจัดแสง การหามุมกล้อง การตกแต่งภาพอย่างง่าย เป็นต้น ทำให้รู้สึกว่าการเป็นผู้สูงวัยไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิดหากเราเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันโลกทันเหตุการณ์ก็จะอยู่ในสังคมได้อย่างไม่รู้สึกไร้ค่าและโดดเดี่ยวอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องตั้งอยู่บนทางสายกลางใช้ให้พอดีไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป เพียงเท่านี้กลุ่มสูงวัยก็จะสามารถพัฒนาเป็น สว. 4.0 ได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุขอย่างยั่งยืน

"อย่างไรก็ตาม ลูกหลานก็ไม่ควรละเลยการดูแลผู้สูงอายุในบ้านโดยใช้สื่ออนไลน์เข้ามาทดแทน เพียงอย่างเดียว แต่ควรนำมาใช้ในการพบปะพูดคุยกัน โดยอาจหยิบยกเอาเรื่องในสื่อสังคมออนไลน์มาพูดคุย หรือการตั้งโจทย์ง่ายๆ เช่น การถ่ายภาพ ส่งภาพ ถ่ายวีดีโอ แล้วส่งให้กันในกลุ่มครอบครัว เพื่อเป็นกิจกรรมในการสร้างความสุขและความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เพราะการพัฒนาผู้สูงอายุให้เป็นผู้สูงวัย 4.0 ที่สามารถอยู่กับเทคโนโลยีได้จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย เพราะสภาพสังคมปัจจุบันเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร การดำเนินชีวิตทุกอย่างถูกผลักดันให้ดำเนินไปผ่านเทคโนโลยี นี่จึงเป็นส่วนเติมเต็มให้ผู้สูงวัยก้าวทันโลกทันเหตุการณ์ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และช่วยฝึกความจำ ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย เพราะการใช้โซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตผู้สูงอายุต้องใช้ทักษะสูง ทำให้ได้ฝึกสมองด้วยเช่นกัน" อาจารย์กนกกาญจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ