ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุวรรณี สุรเศรณีวงศ์ รองคณบดี และผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช ในฐานะผู้ดูแลกองทุนพัฒนาแพทยศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาแพทยศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ในด้านต่างๆ ตลอดจนการร่วมกันทำโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความประสงค์ที่จะหาเงินบริจาคเข้ากองทุนพัฒนาแพทยศาสตร์จึงได้จัดแคมเปญ พลังแห่ง การให้ พลังแห่ง ความสุข" เพื่อรณรงค์และขอเชิญผู้สนใจให้ร่วมกันบริจาคสมทบเข้ากองทุนพัฒนาแพทยศาสตร์
กองทุนพัฒนาแพทยศาสตร์ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ ในการ "สร้างคน" และเพื่อพัฒนาวงการแพทย์ โดยมุ่งหวังสร้างแพทย์ที่เป็นมากกว่าผู้ให้การรักษา คำว่า "สร้างคน" ครอบคลุมถึงการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในด้านวิชาการและวิชาชีพ เพื่อให้เป็นแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ อีกทั้งยังให้การสนับสนุนสร้างเสริมผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการแพทย์ การสนับสนุนงานวิชาการและวิจัยด้านแพทยศาสตร์ศึกษา การสนับสนุนนักศึกษาในการร่วมกันจัดทำโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ การสนับสนุนนักศึกษาในการแลกเปลี่ยนความรู้ในประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ กองทุนนี้สนับสนุนนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ แพทย์แผนไทยประยุกต์ นักศึกษากายอุปกรณ์ นักศึกษาเทคโนโลยีแพทยศาสตร์ เป็นต้น ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก ตลอดจนแพทย์ผู้เข้าอบรมแพทย์เฉพาะทาง
กองทุนพัฒนาแพทยศาสตร์ มุ่งหวังจะพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้มีความสามารถรอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะรอบรู้ด้านการรักษา การวิจัย และวิชาการเท่านั้น แต่ต้องพรั่งพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ความสามารถในการสื่อสาร มีมนุษยสัมพันธ์ ความสามารถในการทำงานเป็นทีม การมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นศักยภาพที่พึงมีในศตวรรษที่ 21 อันจะเป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์ไทยในอนาคต
"ผู้สนใจที่จะบริจาคเพื่อร่วมสมทบกองทุนพัฒนาแพทยศาสตร์ สามารถติดต่อบริจาคได้ที่ ฝ่ายการคลัง ชั้น 2 ตึกชัยนาทนเรนทรานุสรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หมายเลขบัญชี 016-446869-5 หรือโทร. 0 2419 7646-8"
พลังแห่ง "การให้" พลังแห่ง "ความสุข"
งานวิจัยที่นักศึกษา แพทย์ประจำบ้านทำร่วมกับอาจารย์มีจำนวนมากและหลากหลายสาขาที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ เพื่อการพัฒนาในวงการแพทย์และการสาธารณสุข ตั้งแต่สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับยีนส์หรือโมเลกุล งานวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรมทางคลินิค งานวิจัยระดับชุมชน งานวิจัยทางแพทยศาสตรศึกษา ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลสนับสนุนให้ผู้เรียนนำผลงานไปเสนอในเวทีประชุมวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ โดยอาศัยกองทุนพัฒนาแพทยศาสตร์ ผลงานจำนวนมากได้รับรางวัล หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนา เป็นที่ภาคภูมิใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นคว้ากลไกใหม่ๆที่สัมพันธ์กับการก่อโรค ซึ่งจะนำไปสู่วิธีการวินิจฉัยใหม่ๆที่ง่ายขึ้นหรือตรวจพบได้เร็วขึ้น ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยเฉพาะโรคร้ายแรงเช่นโรคมะเร็ง หรือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่เป็นต้น ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นได้แก่
· การค้นพบกลไกใหม่ ที่ผลึกแคลเซียมออกซาเลตในนิ่วทำให้เกิดพยาธิสภาพต่อท่อไต ผ่านทาง p38 MAPK Pathway อันจะมีผลต่อการพัฒนาวิธีการรักษานิ่วในท่อไตในอนาคต
· การค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างมะเร็งผิวหนังกับการทำลาย DNA จากภาวะoxidative stress และการเปลี่ยนแปลงระบบปกป้อง antioxidation ในร่างกาย ซึ่งมีผลให้เกิดสาร 8-OHdG ในปัสสาวะ ผลงานวิจัยนี้จะนำไปสู่การตรวจหามะเร็งโรคผิวหนังแต่เนิ่นๆโดยการตรวจปัสสาวะหาสาร 8-OHdG ซึ่งจะมีประโยชน์มากในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งโรคผิวหนัง
· การพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งแนวใหม่เรียกว่า เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด (cellular immunotherapy) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการนำเซลล์ในระบบภิคุ้มกัน (immune cell)ของผู้ป่วยมากระตุ้นภายนอกร่างกาย เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำลายมะเร็งได้ดียิ่งขึ้นและใส่กลับเข้าร่างกายผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้มีความแข็งแรง และจำเพาะในการกำจัดเซลล์มะเร็ง เป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้จัดตั้งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง
ผลงานวิจัยทางคลินิคที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน หลายเรื่องสามารถทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวทางเวชปฏิบัติดั้งเดิมเช่น ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการให้ออกซิเจนระหว่างและหลังการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ซึ่งการให้ออกซิเจนถือปฏิบัติมาช้านาน ต่อมามีการค้นพบว่าออกซิเจนมีทั้งคุณและโทษ ควรใช้เท่าที่จำเป็น งานวิจัยเรื่องนี้ได้พิสูจน์ว่า ผู้ป่วยตั้งครรภ์ปกติและแข็งแรงที่มารับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องและได้รับการเฝ้าระวังด้วยเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดอย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องสูดดมออกซิเจนตลอดเวลา ระหว่างและหลังผ่าตัด สามารถให้ออกซิเจนทดแทนเฉพาะเมื่อมีข้อบ่งชี้ และพบว่าผู้ป่วยปลอดภัยทั้งมารดาและทารก ผลงานวิจัยนี้ได้เปลี่ยนแนวทางปฏิบัติในการให้ออกซิเจน ในห้องผ่าตัดสูติกรรม โรงพยาบาลศิริราช
ตัวอย่างผลงานคิดค้นนวัตกรรมทางคลินิคได้แก่การพัฒนาหลอดดูดต่อกับลูกโป่งให้ผู้ป่วยเป่าเพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดดำโปงพองที่ขา เปรียบเทียบกับวิธีการดั้งเดิมที่ให้ผู้ป่วยปิดปากและจมูกพร้อมกับเป่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ซึ่งอายุมาก จะเข้าใจได้ยาก ต้องใช้เวลาในการตรวจนาน พบว่า ผลการตรวจวินิจฉัยโรคจากเครื่อง duplex scan จากทั้งสองวิธีไม่แตกต่างกัน แต่วิธีเป่าลูกโป่ง ผู้ป่วยสามารถเข้าใจได้ง่าย ใช้เวลาในการตรวจสั้นกว่าอย่างมีนัยสำคัญนวัตกรรมนี้เป็นงานประดิษฐ์ง่ายๆแต่ให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยจำนวนมากเนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในวัยชราผลงานนี้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ
นอกจากนั้นนักศึกษาแพทย์ยังทำการศึกษาวิจัยชุมชนจนได้รับการตีพิมพ์ เช่น การศึกษาปัจจัยเกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้าน 2 แห่งทางภาคกลาง ตลอดจนการศึกษาวิจัยทางแพทยศาสตร์ศึกษา จนได้รับทุนสนับสนุนให้ไปนำเสนอผลงานในต่างประเทศ เช่นการศึกษาวิธีการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ขณะเรียนอยู่ในชั้นปี 2 และปี 3 พบว่า นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 66) ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ ผลการวิจัยนี้แตกต่างจากการค้นพบในต่างประเทศที่พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยปรับวิธีการเรียนรู้ของตนเอง จึงต้อการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อนำมาปรับวิธีการสอนให้เหมาะกับวิธีการเรียนรู้ในบริบทของไทย