นายนักรบ เนียมนามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด ผู้นำด้านการจัดจำหน่ายระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจรในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมานั้น บริษัทฯ ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีอัตราการเติบโต 12 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากปัจจัยระบบความปลอดภัยด้านไอที มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องการ ผู้เชี่ยวในการขายและด้านการสนับสนุนทางเทคนิค ซึ่งทีมงานของบริษัทฯ ถือเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค จนได้รับความไว้วางใจจากพาร์ทเนอร์และลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยทีมบุคคลากรได้ผ่านการทดสอบความรู้ความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองในระดับเอเชีย-แปซิฟิก
สำหรับนโยบาย และกลยุทธ์การทำตลาดในปี 2560 บริษัทฯ ได้วางแผนขยายตลาดและเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านไอที ซีเคียวริตี้ เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการได้ทุกภาคส่วน และมีทีมซัพพอร์ทที่มีความเชี่ยวชาญ และสามารถเข้าช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าการเติบโตในปี 2560 ที่ 15 เปอร์เซนต์
"การเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์ที่เป็นสุดยอดเทคโนโลยีที่มีผู้ใช้ทั่วโลก อาทิ SOLUS (การยืนยันตัวตนแบบ Multi Factor Authentication โดยข้อมูลทาง Biometric รวมความสามารถของเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง Eyeprint และ PINPad) / Menlo Security (เทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันโดยสร้างคลาวด์ขึ้นมาเพื่อกักมัลแวร์ไว้ กันให้ผู้ใช้รอดพ้นจากภัยร้ายต่างๆ) และ ไซเมนเทค ที่เข้าซื้อกิจการบลูโค้ท และดาต้า ล็อกเกอร์ (Data Locker ) ซึ่งผลิตภัณฑ์ด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล โดยการเข้ารหัสการเก็บรักษาข้อมูล (Mobile Encryption) บริษัทฯ ตั้งเป้าเจาะกลุ่มฐานลูกค้าซึ่งรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงปลอดภัย อาทิ ทหาร ตำรวจ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงที่มีข้อมูลสำคัญต้องเก็บรักษา"
สำหรับแนวโน้มผลิตภัณฑ์ไอที ซีเคียวริตี้ที่มาแรงในปี 2560 นั้น บริษัทฯ มองว่า จะเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการรักษาความปลอดภัยในศูนย์ข้อมูล หรือดาต้า เซ็นเตอร์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านทราฟิกวิซิบิลิตี้ (Traffic visibility) ในการนำข้อมูลในดาต้า เซ็นเตอร์มาใช้วิเคราะห์และวัดประสิทธิภาพการทำงานของระบบ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ดาต้า เซ็นเตอร์ หรือองค์กรธุรกิจที่มีการใช้งานและ/ หรือการให้บริการระบบคลาวด์ ทั้งคลาวด์ส่วนตัว และคลาวด์สาธารณะ ที่ต่างก็มียอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในปีนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในตลาดซอฟต์แวร์ ในการปกป้องเครื่องคอมพิวเตอร์ขององค์กร (Endpoint Security) หลังจากที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยจะสังเกตเห็นว่ามีผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก โดยทั้งหมดได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีที่สามารถช่วยป้องกันมัลแวร์ชนิดใหม่ๆได้ ทั้งตลาดยังมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะมีผู้เล่นไม่ต่ำกว่า 20 ราย เนื่องจากทุกอุปกรณ์ไม่ว่าจะโมบาย พีซี และโน้ตบุ๊ก ต้องมีระบบความปลอดภัยระดับเอนด์พอยต์ สิ่งที่สามารถตอบโจทย์ตลาดเอนด์ พอยต์ ในยุคนี้ได้มากที่สุด คือ เน็กซ์ เจน เอนด์พอยต์ (Next Gen Endpoint Security) หมายถึง ระบบที่สามารถรับรู้และเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้ได้ รวมถึงการใช้งานข้ามแพลทฟอร์มของอุปกรณ์ต่างๆ ได้ และซอฟต์แวร์ในการจัดการข้อมูลเพื่อระบุตัวตนผู้ใช้ (Identity Management) เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้งานระบบคลาวด์มากขึ้น จึงยากที่จะตรวจสอบของผู้เข้าใช้ระบบได้ ระบบการพิสูจน์ตัวตน (authentication) ซึ่งใช้รหัสผ่านยังคงไม่ปลอดภัย เพราะรหัสผ่านสามารถโดนขโมยได้ ดังนั้นการระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำและซับซ้อนขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยสามารถใช้ระบบพิสูจน์ตัวตนใน 2 รูปแบบ คือ โทเคน (token) และ ไบโอเมทริกซ์ (biometric)
นอกจากนี้นายนักรบยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "ทุกภาคส่วนในสังคมได้รับการกระตุ้นด้วยนโยบายภาครัฐ ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อน ทั้งในด้านการศึกษา ระบบสุขภาพ เกษตร และท่องเที่ยว ซึ่งต่างก็ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อย่าง ฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และอี- เอ็ดดูเคชั่น
ทั้งนี้การใช้ไอทีในการขับเคลื่อน ต้องมีการวางแผนด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพในทุกระบบ ไม่ว่าจะบนแอพพลิเคชั่น อินฟราสตรัคเจอร์ ระบบเครือข่ายต่างๆ จึงควรมีหน่วยงาน รักษาความปลอดภัย บนข้อมูล ที่จะมาติดตามตรวจสอบ ตลอดจนให้คำปรึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อม ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องให้พร้อมในการส่งเสริมและสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0"