รศ.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี 2529 ได้ขยายสู่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา จนถึงปัจจุบัน
มีสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนจำนวนมากขึ้น ด้วยบทบาทของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้ริเริ่มการเรียนการสอนภาษาเกาหลีทุกระดับในประเทศไทย ส่งผลให้มีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมจนทำให้ได้รับการบรรจุเป็นภาษาต่างประเทศเพื่อการสอบคัดเลือกของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านเกาหลีศึกษา รวม 8 ปีที่ผ่านมานอกจากเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาแล้ว ยังเป็นการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อเปิดมิติใหม่สู่แนวทางส่งเสริมจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในระดับอาชีวศึกษา เพราะเล็งเห็นว่าแนวโน้มทางการศึกษาไทยกำลังปฏิรูปเพื่อพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นการศึกษาในสายอาชีวศึกษามีความสัมพันธ์โดยตรงกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยมี
การเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ประกอบกับตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานสายอาชีพเฉพาะ เพื่อสร้างแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ การจัดการศึกษาภาษาเกาหลีในสายอาชีวศึกษา จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นแรงงานที่มีฝีมือได้โดยอาศัยภาษาเกาหลีเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองทางเทคโนโลยีซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีมีความก้าวหน้าสูง
รศ.ปริศวร์ ยิ้นเสน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความสำคัญดังกล่าวคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี จึงกำหนดจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา ให้แก่นักวิชาการ คณาจารย์ผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทย ระหว่างวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดเห็นการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในระดับมัธยมศึกษา และส่งเสริมการศึกษาภาษาเกาหลีในระดับอาชีวศึกษา โดยมี ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย ครูผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทย ครูชาวเกาหลี ผู้แทนนักเรียนมัธยมศึกษาภาคละ 1 คน 5 ภาค ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าร่วมสัมมนา คาดหวังว่าผู้ร่วมสัมมนามีความเข้าใจด้านเกาหลีศึกษาที่เป็นปัจจุบันรวมทั้งแนวทางการจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาต่อไป.