กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ขาเทียมจากถุงน่องใช้แล้ว นวัตกรรมจาก โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เพิ่มมูลค่าจากของเหลือทิ้ง ลดต้นทุนการผลิต จุดประกายความหวังให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่พิการขา ได้อย่างมิต้องสงสัย ใครจะคิดว่าถุงน่องที่มีคุณสมบัติด้านความเหนียว ยืดหยุ่นสูง มีช่องตาข่ายเล็กๆ มากมาย และสามารถสวมทับขาได้ทุกขนาด เช่นเดียวกับวัสดุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ทำขาเทียมที่เรียกว่า "ถุงสต๊อกกิเนต" (stockinette) จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ แทนสต๊อกกิเนตได้จริง หนำซ้ำยังเป็นถุงน่องใช้แล้วอีกด้วย จึงลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้องขอยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับนายสว่าง เตียวโล่ นักกายอุปกรณ์จากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส รวมถึงทางโรงพยาบาล ที่เล็งเห็นความสำคัญของขาเทียมที่มีต่อผู้พิการขาและได้พัฒนาขาเทียมจากถุงน่องใช้แล้วจนเป็นจริงได้ในที่สุด
นายสว่างฯ ได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการผลิตขาเทียมจากถุงน่องใช้แล้วว่า เขาเอง เป็นนักกายอุปกรณ์มีหน้าที่ต้องพัฒนาและซ่อมแซมอุปกรณ์ทางด้านสุขภาพอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าปัจจุบันขาเทียมยังมีราคาแพงอยู่มาก งบประมาณที่มีอยู่มีน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของ ถุงน่องที่คล้ายถุงสต๊อกกิเนตแล้ว เห็นว่าคล้ายๆ กัน จึงลองพัฒนาขาเทียมจากถุงน่องดู และพบว่ามันใช้งานได้จริงๆ ซึ่งถุงสต๊อกกิเนตเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้า ราคาแพง ขายเป็นหลาๆ ละ ประมาณ ๑๐๐ บาท จึงได้คิดจะพัฒนาขาเทียมจากถุงน่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ แต่เริ่มทำจริงจังเมื่อปี ๒๕๔๖ โดยทางโรงพยาบาลได้ให้การส่งเสริมมาตลอด ส่วนขั้นตอนการผลิตขาเทียมจากถุงน่องใช้แล้วนั้น ทำได้โดยการนำถุงน่องใช้แล้ว มาทำแบบซ้อนๆ กัน แล้วเทเรซินลงไปที่แบบเพื่อให้แบบนั้นคงรูปอยู่ได้ ซึ่งจะใช้ถุงน่อง ๔๐ ชั้น หรือ ๒๐ คู่ในการผลิตขาเทียมระดับใต้เข่า ๑ ข้าง และใช้ ๘๐ ชั้น หรือ ๔๐ คู่ สำหรับขาเทียม ระดับเหนือหัวเข่า โดยจะมีต้นทุนการผลิตเพียง ๗๕ บาทต่อข้าง อีกทั้งมีความแข็งแรงทนทาน มีสีสวยงามเหมือนจริงตามสีผิวของคนป่วยด้วยการคัดเลือกสีของถุงน่อง รวมทั้ง มีน้ำหนักเบา จึงเหมือนขาเทียมแบบเดิมที่มีราคาสูงถึงข้างละ ๑,๓๕๐ บาท สำหรับผู้พิการขาสามารถติดต่อแจ้งความจำนงต้องการขาเทียมได้กับทางโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งโรงพยาบาลก็จะขอดูบัตรประจำตัวผู้พิการก่อน หลังจากนั้นก็จะเริ่มทำแบบเบื้องต้นให้พอดีกับขาของผู้ป่วย ด้วยการนำถุงน่องใช้แล้วมาซ้อนทับกันแล้วเทเรซิน ให้แบบคงรูป จากนั้นเมื่อเห็นว่าแบบที่ได้มีความพอดีกับขาผู้ป่วยแล้ว ก็จะทำขาในช่วงต่อไป ด้วยวิธีการทำเดียวกันกับเบื้องต้นจนสามารถทำเป็นขาทั้งขาของผู้ป่วยได้ ต่อจากนั้นจึงนำเท้าเทียมที่กระทรวงสาธารณสุขได้บริจาคให้ไว้กับโรงพยาบาลมาต่อเป็นส่วนสุดท้าย เพียงเท่านี้ผู้ป่วยก็จะมีขาใหม่เป็นของตนเองแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลยังต้องการการบริจาคถุงน่องใช้แล้วอีก เพื่อให้เพียงพอ กับจำนวนผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับบริการขาเทียม ซึ่งคาดว่ายังมีอยู่มาก และโดยมากแล้ว เขาเหล่านั้น มักเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม บางคนก็ยังไม่มีแม้บัตรประจำตัวผู้พิการ ซึ่งในกรณีนี้ หากทางโรงพยาบาลพบก็จะให้ไปทำบัตรที่ประชาสงเคราะห์จังหวัดโดยทันที แล้วจึงพามาทำ ขาเทียมให้ต่อไป สำหรับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคถุงน่องใช้แล้ว สามารถติดต่อได้ที่งานกายอุปกรณ์ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๗๓๕๑ ๑๓๗๙ ต่อ ๘๒๒๗ หรือ ๐ ๑๖๙๘ ๐๒๕๕ และ ๐ ๖๖๙๔ ๑๕๓๙
ทั้งนี้ ฝ่ายผลิตภัณฑ์เชอรีล่อน บริษัท นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) จำกัด (มหาชน) ขอเชิญชวนสุภาพสตรีร่วมบริจาค "ถุงน่องใช้แล้ว" ทุกสีสันทั้งแบบเต็มตัวและใต้เข่า ให้กับฝ่ายเวชกรรม ฟื้นฟูงานกายอุปกรณ์ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อใช้ประดิษฐ์ขาเทียมสำหรับผู้พิการ โดยผู้ที่บริจาคถุงน่อง ๕ คู่ขึ้นไป รับฟรีถุงน่องข้อเท้าสูง ๑ คู่ ทันที บริจาคได้ที่ คอนเนอร์ขายเชอรีล่อน ในห้างสรรพสินค้าทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หมดเขต รับบริจาคในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(ที่มา : โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๘ และหนังสือพิมพ์ข่าวสด ประจำวันที่ ๑๓ ก.ย. ๔๘)--จบ--
- ๒๔ ธ.ค. โครงการผ่าตัดตาต้อกระจก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ธ.ค. ๒๕๖๗ “ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนใต้ เป็นตัวแทนรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ สู้ภัยโควิด-19 จากช่อง 8”
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: มูลนิธิธนชาตเพื่อสังคมไทย มอบหน้ากากให้กับโรงพยาบาล 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้