ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 21 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 3 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 6 - 7 เมษายน 2560 ณ เมืองเซบู สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

อังคาร ๑๑ เมษายน ๒๐๑๗ ๒๑:๑๐
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 21 (The 21st ASEAN Finance Minister's Meeting: 21st AFMM) การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Finance Ministers' and Central Bank Governors' Meeting: 3rd AFMGM) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 6 - 7 เมษายน 2560 ณ เมืองเซบู สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ แถลงผลการประชุมในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในพิธีสารฉบับที่ 2 ว่าด้วยการกำหนดที่ทำการพรมแดน (Protocol 2 Designation of Frontier Points) ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีกจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย สปป. ลาว สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งพิธีสารฯ ดังกล่าวจะช่วยให้กระบวนการขนส่งสินค้าข้ามแดน ในภูมิภาคอาเซียนมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ทำการพรมแดนของประเทศไทยที่กำหนดไว้และมีความสอดคล้องตรงกันกับที่ประเทศเพื่อนบ้านกำหนดแล้ว ประกอบด้วย 1) ที่ทำการพรมแดนแม่สาย 2) ที่ทำการพรมแดนแม่สอด 3) ที่ทำการพรมแดนอรัญประเทศ 4) ที่ทำการพรมแดนหนองคาย 5) ที่ทำการพรมแดนสะเดา 6) ที่ทำการพรมแดนมุกดาหาร และ 7) ที่ทำการพรมแดนเชียงของที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนได้มีการหารือเรื่องการดำเนินการความร่วมมือด้านศุลกากรที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) และการให้สัตยาบันในพิธีสารฉบับที่ 7 ว่าด้วยระบบศุลกากรผ่านแดน เป็นต้น

โดยประเทศไทยได้แจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าใน ASW ว่า ระบบของไทยสามารถใช้งานได้ทั้งภายใต้สภาวะการทดสอบและภายใต้การใช้งานจริง ซึ่งประเทศที่ผ่านการทดสอบระบบภายใต้การใช้งานจริง ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย รวมถึงได้เชื่อมโยงหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องแล้ว 33 หน่วยงาน จากทั้งหมด 36 หน่วยงาน ทั้งนี้ สำหรับการให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่ 7 ว่าด้วยระบบศุลกากรผ่านแดน ประเทศไทยได้จัดทำสัตยาบันสารและดำเนินการจัดส่งต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนเรียบร้อยแล้ว สำหรับความร่วมมือทางด้านภาษีอากรมีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ โดยประเทศสมาชิกได้ให้การรับรองแผนการดำเนินการด้านภาษีอากร ค.ศ. 2016 – 2025 ครบทุกประเทศแล้ว พร้อมทั้งยินดีกับความคืบหน้าในการเจรจาสนธิสัญญาภาษีซ้อนของประเทศสมาชิก การพัฒนาแนวทางการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาตรการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษี (Exchange of Information: EOI)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการรวมกลุ่มด้านการเงินของอาเซียน (Roadmap for Integration: Financial and Monetary Integration: RIA-Fin) รวมถึงได้ให้การรับรองตัวชี้วัดความคืบหน้าการรวมตัวด้านการเงิน (Financial Integration) และเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability) เพื่อติดตามให้เกิดการพัฒนาทางการเงินของประเทศสมาชิก

อย่างทั่วถึงและยั่งยืนให้เป็นไปตามแผนการดำเนินการด้านการเงินการคลังอาเซียน ค.ศ. 2016 - 2025 ภายใต้ AEC Blueprint 2025 รวมไปถึงรับทราบรายงานความก้าวหน้าการพัฒนาตลาดทุนเพื่อให้มีความเข้มแข็งและมีความเชื่อมโยงในภูมิภาค และแนวคิดริเริ่มต่าง ๆ อาทิ การริเริ่มพันธบัตรสีเขียว (ASEAN Green Bond Initiatives) ที่ประเทศสมาชิกได้ตระหนักถึงความสำคัญในการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคณะทำงานเพื่อพัฒนาตลาดทุน (Working Committee on Capital and Market Development: WC-CMD) และ ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) ที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป เป็นต้น

ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าของการเปิดเสรีการค้าบริการทางการเงินภายในอาเซียน โดยขณะนี้สมาชิกอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการภายในประเทศ เพื่อให้สัตยาบันพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าบริการของอาเซียน ฉบับที่ 7 ซึ่งสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ไทย บรูไนดารุสซาราม และ สปป. ลาว ให้สัตยาบันพีธีสารดังกล่าวแล้ว โดยประเทศไทยได้ปรับปรุงข้อผูกพันในสาขาย่อยประกันชีวิตและประกันวินาศภัยให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่บังคับใช้ในปัจจุบัน และขณะนี้สมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 ซึ่งคาดว่าการลงนามในพิธีสารฯ ฉบับที่ 8 จะมีขึ้นในการประชุม AFMGM ในปี 2561 ที่ประเทศสิงคโปร์ นอกจากนั้น ที่ประชุมได้ยินดีกับความก้าวหน้าในความร่วมมือด้านระบบการชำระเงินและธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจทวิภาคีว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกลางมาเลเซีย และธนาคารกลางอินโดนีเซีย

สำหรับความร่วมมือด้านการประกันภัย ที่ประชุมได้แสดงความยินดีกับการจัดตั้ง ASEAN Insurance Forum (AIFo) เพื่อเป็นเวทีหารือร่วมกันระหว่างการประชุมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียน (ASEAN Insurance Regulators' Meeting: AIRM) กับคณะทำงานเปิดเสรีภาคการเงิน (Working Committee on Financial Services Liberalisation: WC-FSL) เพื่อเร่งรัดการเปิดเสรีสาขาประกันภัย และร่วมกับคณะทำงานด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Working Committee on Financial Inclusion: WC-FINC) เพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสนับสนุนการเปิดเสรีภาคประกันภัย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือความก้าวหน้าในด้านอื่น ๆ ได้แก่ ความร่วมมือด้านการเงินอาเซียน+3 การเข้าถึงบริการทางการเงิน การเปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้าย เป็นต้น

การประชุม AFMM และ AFMGM ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนเมษายน 2561

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3619

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย
๑๕:๓๘ MediaTek เปิดตัว Dimensity 8400 ชิป All Big Core รุ่นแรกสำหรับสมาร์ทโฟนพรีเมียม
๑๕:๕๔ เปิด 10 เทรนด์ฮิตชีวิตดิจิทัลปี 2024 ปีแห่งความหลากหลายด้านป๊อปคัลเจอร์ โดย LINE ประเทศไทย
๑๕:๒๕ สุรพงษ์ ส่งมอบความสุข ขยายเวลาให้บริการสายสีแดง ถึง ตี 2 ในคืนเคานต์ดาวน์ เป็นของขวัญปีใหม่มอบให้แก่ประชาชน
๑๕:๐๗ เอ็นไอเอคัด 8 ผู้ประกอบการไทยสายการแพทย์ - สุขภาพ คว้าโอกาสบุกตลาดเยอรมนี - ยุโรป พร้อมโชว์จุดแข็งในงาน Medica 2024 ตอกย้ำไทย
๑๕:๒๖ EGCO Group คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AA ตอกย้ำความมั่นใจนักลงทุนต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
๑๕:๕๖ เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน ส่งมอบความสุขและความอุ่นใจ ต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card ผ่าน กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ
๑๕:๔๘ แอสตร้าเซนเนก้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยทางคลินิกในไทย
๑๕:๓๒ ซีเอ็มเอ็มยู มุ่งผลิตบุคลากรชั้นนำผ่านนวัตกรรมการศึกษาและงานวิจัยระดับโลก พร้อมจุดประกายภาคเศรษฐกิจ - สังคม เปลี่ยนแหล่งเรียนรู้สู่ พาร์ทเนอร์การเรียนรู้