สืบเนื่องจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย เนคเทค-สวทช. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้จัดทำโครงการศึกษาและพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล หรือ Personal Health Record (PHR) โดยการนำร่องในพื้นที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ๓ หน่วยงาน จาก ๓ กระทรวง ขับเคลื่อนขยายผลการใช้งานระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล หรือ Personal Health Record (PHR) เพื่อให้เกิดการใช้งานในระดับจังหวัด
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล โดยแบ่งเป็น ๓ ระยะ ในระยะที่ ๑ และ ๒ จะเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่ขึ้นทะเบียนกับสถานบริการทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ เป็นต้นมา ปัจจุบันมีผู้สมัครเป็นสมาชิกสูงถึง ๑๕,๒๖๖ คน จากประชากรกลุ่มเป้าหมาย ๕๐,๐๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๐ ของประชากรกลุ่มเป้าหมายในระยะที่ ๑ ละ ๒ ขั้นตอนต่อไปเป็นการดำเนินการในระยะที่ ๓ กลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้รับบริการและประชาชนที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของคลินิกหมอครอบครัวทุกแห่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเริ่มดำเนินการแห่งแรกที่คลินิกหมอครอบครัว โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ สาขาคลองศาลา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ความโดดเด่นของจังหวัดเพชรบูรณ์ในการใช้ระบบ PHR มาให้บริการด้านสุขภาพคือ การนำระบบนี้ไปใช้เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสุขภาพประชาชนในพื้นที่บริการ ไม่ต้องนำแฟ้มเอกสารจำนวนมากติดตัวไปในพื้นที่ ประชาชนก็สามารถเชื่อมโยงและดูข้อมูลสุขภาพและการรักษากับแพทย์ประจำตัวได้ ข้อมูลที่ได้ก็จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการป้องกันด้านสุขภาพของผู้ป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นการบริการสาธารณสุขในเชิงรุก
ระบบข้อมูลส่วนบุคคล หรือระบบ PHR นี้ เป็นระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลและโรงพยาบาลกับหน่วยงาน เกี่ยวกับสาธารณสุขของประชาชนในแต่ละจังหวัด อาทิ ข้อมูลทั่วไป ประวัติการรักษาที่ผ่านมา การแพ้ยา รวมถึงนำเข้าข้อมูลการดูแลสุขภาพของแต่ละบุคคล การออกกำลังกาย ผลการตรวจร่างกาย ช่วยให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองระหว่างรอการพบแพทย์ครั้งหน้า และเปรียบเทียบและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ด้วย สามารถบริหารข้อมูลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวอย่างเป็นระบบ สามารถติดตามและบริหารนัดพบแพทย์ได้ เป็นต้น โดยข้อมูลถูกออกแบบให้รวบรวมไว้ใน PHR Data Center ของแต่ละจังหวัด ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลาโดยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ Tabletหรืออุปกรณ์ Smart Devices
โครงการระบบ PHR ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสารสนเทศด้านสุขภาพที่มีการสร้างมาตรฐานโครงสร้างข้อมูล สามารถส่งต่อให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์นำไปต่อยอดและขยายผลในอนาคตต่อไป ซึ่งระบบ PHR มีฟังก์ชันได้หลากหลายตามขอบเขตการใช้งาน เช่น Software Platform, Open Technology, Database Management System, คลังข้อมูล, Big Data Analytics, Intelligent Search, Visualization, Cloud System, และ Machine Learning และการพัฒนาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Wearable Devices ในอนาคต
ดูข้อมูลเพื่อเติมได้ที่
http://www.thai-phr.net/
https://www.nectec.or.th/innovation/innovation-software/phr.html
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โทร. 0-2564-6900 ต่อ 2373 (เทพพิทักษ์)
Email : [email protected]