ดร.สุวรรณี พรหมศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงที่มาของการจัดโครงการค่ายบูรณาการวิทยาศาสตร์สำหรับครูและนักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า สืบเนื่องจากเด็กและเยาวชนในพื้นที่ดังกล่าว มีคุณภาพการศึกษาต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของภาคและประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ทำให้ระยะเวลาการศึกษาในชั้นเรียนของนักเรียนใน 3 จังหวัดสั้นลง ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยในการเดินทางไปกลับ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีปัญหาการศึกษาและเรียนรู้ แม้ในภาพรวม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนได้รับการศึกษาดีขึ้น แต่คุณภาพการศึกษายังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนปี 2547 พบว่ามาตรฐานต่ำมากเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ คะแนนเฉลี่ยคุณภาพการศึกษาระดับมัธยมศึกษาอยู่ที่ 43.1% ประชากรจบการศึกษาต่ำกว่า ป.6 มีถึง 44.85% มีผู้จบปริญญาตรีขึ้นไปเพียง 3.5% ทั้งนี้ อาจเกิดจากปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และสภาพเศรษฐกิจของท้องถิ่น ทำให้มีผลต่อคุณภาพการศึกษา
ดร.สุวรรณี กล่าวว่า นอกจากนั้น นักเรียนที่เป็นคนท้องถิ่นยังขาดโอกาสได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ทำให้เสียเปรียบ โดยเฉพาะปัญหาในการใช้ภาษา ความยากจนอันเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจและความจำเป็นที่ต้องย้ายถิ่นเพื่อหางานทำกับครอบครัว ทำให้อัตราการขาดเรียนสูง โดยเฉพาะนักเรียนที่ต้องเรียนทั้งวิชาสามัญและเรียนทางศาสนา ต้องใช้เวลาเรียนมาก ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ การปิดโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนขาดแคลนครูที่มีความรู้ความสามารถในพื้นที่ โดยมีการลอบยิงครู เผาโรงเรียน ดักซุ่มวางระเบิดระหว่างการเดินทาง ทำให้โรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนเป็นระยะ ครูขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และปฏิบัติงานได้ไม่เต็มศักยภาพ หรือแม้แต่ครูขอย้ายออกจากพื้นที่ บุคลากรที่มีคุณภาพจากต่างถิ่นไม่กล้าเข้าไปทำงานในพื้นที่ ขาดแคลนครูกลุ่มสาระที่สำคัญ ครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ขาดความมั่นใจในการจัดการเรียนการสอนและขาดสื่อการสอนที่ทันสมัย ปัญหาเหล่านี้ล้วนมีผลต่อคุณภาพการศึกษาทั้งสิ้น
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ กล่าวอีกว่า จากสภาพปัญหาจะเห็นได้ว่าการพัฒนาระบบการเรียนการสอน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมให้ข้อเสนอ เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามความต้องการของผู้เรียนและสังคม ใช้รูปแบบการสอนและอุปกรณ์อย่างหลากหลายตามสาขาต่างๆ โดยมุ่งเน้นรูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ใช้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งบูรณาการจัดการเรียนการสอนตามทักษะวิชาชีพ จะช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และเพิ่มคุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษาของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา จึงได้จัดค่ายบูรณาการวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 60 คน ได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งเดินทางไปศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนจัดให้มีการนำเสนอผลงานและนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ ระหว่างวันที่ 8-9 มิ.ย.60 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา ซึ่งจะทำให้ครูและนักเรียนได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนในแหล่งเรียนรู้ที่แตกต่างจากเดิม ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น
"วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสำคัญและจำเป็นในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่น จะเห็นได้จากยุทธศาสตร์ของประเทศที่ใช้วิทยาศาสตร์ฯ เป็นพลังขับเคลื่อนศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ การจัดการศึกษาและให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ฯ จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ในการจัดการศึกษาทุกระดับจึงมีรายวิชาวิทยาศาสตร์อยู่ในหลักสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้เท่าเทียมกับนานาประเทศ แต่ผลที่ตามมาคือ การขาดแคลนเครื่องมือของโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับตำบลหรือโรงเรียนที่ห่างไกล นักเรียนมีโอกาสน้อยมากในการทดลองค้นคว้าที่เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้นักเรียนขาดเจตคติทางวิทยาศาสตร์ และโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในศาสตร์แขนงนี้ต่ำตามไปด้วย" ดร.สุวรรณี กล่าว