ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อนและปฏิรูประบบวิจัยแบบบูรณาการของประเทศ ตลอดจนกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี โดยให้ สวทน. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ ขึ้น เพื่อให้ทราบถึงความต้องการหรือโจทย์ของภาคเอกชนในด้านการวิจัยพัฒนาในการใช้กำหนดทิศทางการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และจัดทำร่างกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 20 ปี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถตอบโจทย์ต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี โดยมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ จึงจำเป็นจะต้องเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน เพื่อให้งานวิจัยตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติอย่างแท้จริง
"การที่หน่วยงานภาคเอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้มาร่วมระดมสมอง ในการพิจารณาเทคโนโลยีสำคัญเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในครั้งนี้นั้น ก็เพื่อวางกรอบให้ชัดเจนว่า ประเทศไทยกำลังต้องการงานวิจัยด้านใดบ้าง นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันหารือกลไกสำคัญที่ภาครัฐและอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม เช่น กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น โดยได้แนะนำให้จัดทำเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อติดตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้องวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี ภายใต้แผนงานหลักที่ 1 คือ ด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงความต้องการหรือโจทย์ของภาคเอกชนในด้านการวิจัย เทคโนโลยีสำคัญ และนวัตกรรมในแต่ละสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งข้อมูลความต้องการหรือโจทย์ดังกล่าวจะนำไปใช้ในการจัดทำแผนงานอีก 3 ด้านภายใต้ยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี คือ แผนงานที่ 4 ด้านการปรับระบบและบูรณาการงบประมาณวิจัยและนวัตกรรม แผนงานที่ 5 ด้านการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม และแผนงานที่ 6 ด้านการปฏิรูประบบและพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย
โดยจะมีจัดแบ่งการประชุมปฏิบัติการกลุ่มย่อย นำเสนอรายละเอียดของแต่ละอุตสาหกรรม อภิปรายภาพรวมของการจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยของประเทศในระยะเวลา 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการระดมความเห็น 4 ส่วนหลัก 1) ทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรม 2) เทคโนโลยีและนวัตกรรมส่วนที่เป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมไทย 3) วิเคราะห์โจทย์วิจัย พัฒนาและนวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และ 4) ยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมไทย เลฃาธิการ สวทน. กล่าว
สำหรับภาคเอกชนที่ตอบรับเข้าร่วมกว่า 80 หน่วยงานนั้น เป็นหน่วยงานที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีกลุ่ม 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต โดยการลงทุนชนิดนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลางในลักษณะการต่อยอด และอีก 5 อุตสาหกรรมในอนาคตได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติก อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุตสาหกรรมเดิมมีขีดจำกัด ไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตควบคู่ไปด้วย เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี ซึ่งการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมจะสามารถเพิ่มรายได้ของประชากรได้ประมาณ ร้อยละ 70 จากเป้าหมาย ส่วนอีกร้อยละ 30 จะมาจากอุตสาหกรรมใหม่