นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินนโยบายตามแนวทางของรัฐบาล โดยกำหนดเป้าหมาย 5 อุตสาหกรรม S-Curve ชุดแรกเร่งด่วนประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป, อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และจะต้องเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2560 โดย 5 อุตสาหกรรม นำร่องชุดแรกที่กำหนดขึ้นจะใช้การขับเคลื่อนตามแนวทางประชารัฐ ในรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งจะเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดประเทศไทย 4.0 โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิต ทั้งระบบการผลิตแบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อก้าวสู่ Industry 4.0 โดยมีรายละเอียดที่จะต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมแต่ละอุตสาหกรรมภายในปี 2560 ดังนี้
1. อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากเดิมที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงมากและมักเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถูกกำหนดจากราคาตลาดโลก ไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ นวัตกรรมอาหารเชิงสุขภาพที่ปรับลดปริมาณอาหารให้เหมาะสมต่อความต้องการพลังงาน เพิ่มเติมสารอาหารหรือส่วนผสม (Food Ingredients) ที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเพื่อปรับสมดุลของร่างกายและป้องกันโรค การออกแบบสูตรอาหารให้เหมาะสมกับนักกีฬา การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) ที่เป็นอาหารเฉพาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ การยกระดับวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตยา สมุนไพร และอาหารทางการแพทย์ให้มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น
2. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน จะสร้างให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (xEV) และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ยุคของการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมพร้อมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ประกอบกับการผลักดันให้มีศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อ เพื่อเป็นการยกระดับประเทศไทยอีกทางหนึ่งทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ (Product) มาตรฐาน (Standard) และนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการต่อยอดให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการลงทุนในการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแล้ว และมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งออกมาตรการสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป
3. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กำหนดเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำอาเซียนด้านการผลิต/การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ผ่านการจัดตั้ง Center of Excellence เพื่อเป็นศูนย์อัจฉริยะด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บุคลากรและเทคโนโลยี ผลักดันการพัฒนาธุรกิจ System Integrators (SI) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ ให้มีจำนวนเพียงพอและรองรับต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอนาคต ควบคู่กับการกระตุ้นอุปสงค์ (Demand Driven) โดยส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเป็นหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติให้มากขึ้น
4. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ตั้งเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาสู่การเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ "Bioeconomy" ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมเป็นอย่างมากด้านวัตถุดิบทางการเกษตรในการนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ด้วยการพัฒนาตั้งแต่ระดับต้นน้ำ เชื่อมโยงการผลิตผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับการจัดสรรและผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้เป็นอาหาร เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป้าหมาย อาทิ ผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ (Specialty Polymers/Products) พลาสติกชีวภาพ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่น ๆ ที่มีมูลค่าสูง และผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ที่เหมาะสมในรูปแบบ Bio Complex ส่งเสริมการวิจัยพัฒนา การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างตลาดและความต้องการใช้ให้เพิ่มมากขึ้น
5.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นอุตสาหกรรมศักยภาพเป้าหมายที่เป็นรากฐานสำคัญและสร้างงานให้กับภาคเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน โดยวางเป้าผลักดันกรุงเทพฯ ไปสู่ 1 ใน 5 Fashion Capital of Asia ภายในปี พ.ศ. 2579 ซึ่งจะปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมจากเดิมแยกกันตั้งรับเป็นโซ่อุปทานเชิงรุก เปลี่ยนแนวทางการพัฒนาจากผลักดันอุปทานเป็นการสร้างอุปสงค์ พัฒนาย่านการค้าไทยเป็นศูนย์กลางการค้าระดับอาเซียน รวมถึงสนับสนุนงานแสดงสินค้าแฟชั่นระดับนานาชาติในไทย นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการวิจัยพัฒนาสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Functional/Technical Textile & Fabric) ได้แก่ Meditech, Mobiltech, Hometech, Agrotech ควบคู่กับการพัฒนาโรงงานต้นแบบ ศูนย์ทดสอบและห้องปฏิบัติการครบวงจรตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้สามารถรองรับความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และอุตสาหกรรม S-Curve
"ทั้งนี้ในการขับเคลื่อน กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการตามแนวทางประชารัฐ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีองค์ประกอบจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และองค์กรในระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทางและผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve อย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ พร้อมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการขับเคลื่อนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงินจำนวน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจาก บีโอไอ" นายศิริรุจ กล่าว