สมอ. ลุยจับเหล็กภาคเหนือ พบเหล็กไม่ได้มาตรฐานมูลค่ากว่า 7 แสนบาท

จันทร์ ๒๔ เมษายน ๒๐๑๗ ๑๑:๓๘
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ลุยตรวจสินค้าในเขตพื้นที่ภาคเหนือพบการจำหน่ายเหล็กก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานกว่า 5,000 เส้น มูลค่ากว่า 700,000 บาท แนะผู้บริโภคให้ซื้อเหล็กก่อสร้างที่แสดงเครื่องหมาย มอก.บังคับ เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน วอนผู้บริโภคหากพบเหล็กก่อสร้างที่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน โปรดแจ้ง สมอ.

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่าสมอ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กในเขตพื้นที่ภาคเหนือได้แก่ น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์ และได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายรวม 15 ราย พบร้านจำหน่ายเหล็กก่อสร้างจำหน่ายเหล็กที่ไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. จำนวน 4 ราย มูลค่ารวมกว่า 7 แสนบาท จึงได้ยึดอายัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบต่อไป

สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กที่ สมอ.ตรวจพบประกอบด้วยเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กเส้นกลม ไม่เป็น ไปตามมาตรฐาน มอก. 20-2543 จำนวน 3,774 เส้น เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กข้ออ้อย ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 24-2548 จำนวน 400 เส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 1227-2558 จำนวน 274 เส้น และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็น ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 1228-2559 จำนวน 730 เส้น

อนึ่ง เหล็กเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ 104 รายการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (มาตรฐานบังคับ) ซึ่งผู้ทำและผู้นำเข้าต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำและนำเข้า ขณะเดียวกันผู้จำหน่ายก็ต้องจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมาย มอก. เท่านั้น หากพบว่ามีการกระทำผิดจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายทันที สำหรับบทลงโทษในกรณีทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแสดงเครื่องหมาย มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ

การจำหน่ายเหล็กก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังส่งผลเสียต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมาก และส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะหากนำเหล็กไม่ได้มาตรฐานมาใช้ในโครงสร้างของบ้าน ตึก อาคาร จะทำให้สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นไม่แข็งแรง และเกิดการพังถล่ม เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลือกซื้อเหล็กก่อสร้างควรสังเกตเครื่องหมายมาตรฐาน ที่ประทับไว้บนเนื้อเหล็กเพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานตามร้านที่มีสัญลักษณ์ ทั่วประเทศ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อร้าน มอก. ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงของท่านได้ที่ www.tisi.go.th

ในส่วนของประชาชนผู้บริโภคหากพบการผลิตหรือจำหน่ายเหล็กไม่ได้มาตรฐาน สามารถโทรศัพท์ร้องเรียนได้ที่หมายเลข 0 2202 3471 รวมทั้งหาความรู้เพิ่มเติมในการเลือกซื้อเหล็กที่ได้มาตรฐานได้ทางเว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ