ภายหลังจากเมื่อวานที่ผ่านมา (19 เมษายน 2560) นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้น การประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงาน ตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หลังจากที่ เริ่มดำเนินการมาได้แล้ว 19 วัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุขได้ระบุว่า ปัญหาที่พบในการดำเนินงานตามนโยบาย นี้ คือเรื่องความไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ของการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่สามารถใช้สิทธิได้
โดยในประเด็นดังกล่าวนี้ เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า จากการสรุปวิเคราะห์การดำเนินงานที่ผ่านมา โดยใช้สถิติจากช่วง 17 วันที่ได้ดำเนินการตามนโยบาย UCEP มาเป็นตัวตั้งต้นในการสรุป พบว่ามีประชาชนจำนวนมากถึง1,773 รายที่มาขอใช้สิทธิตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" และเป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เพียง 715 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 40.33 เท่านั้น ซึ่งปัญหาที่พบจากรายงานคือมีประชาชนบางส่วนที่ไม่เข้าใจถึงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ใช้สิทธิตามนโยบาย จึงอยากให้ประชาชนทุกคนจดจำว่าอาการฉุกเฉินวิกฤตที่สามารถใช้สิทธิได้นั้นประกอบไปด้วยอาการต่างๆ ดังนี้ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่อง ไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
" เมื่อเราพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตต่างๆ เหล่านี้ให้รีบโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปส่งยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อทำการรักษาให้ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการนำผู้ป่วยไปส่งเพื่อทำการรักษานั้นไม่จำเป็นจะต้องเจาะจงไปที่โรงพยาบาลเอกชน แต่จะต้องเป็นโรงพยาบาล ที่อยู่ใกล้ที่สุดไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนก็ได้ เพราะการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตนั้นหากช้าไปแม้แต่วินาทีเดียวหมายถึงการรอดชีวิตของผู้ป่วย"เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว