พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทำขวัญธัญญาหารพืชพันธุ์ สร้างความเชื่อมั่นแก่เกษตรกรไทย

อังคาร ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๑:๔๗
งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น โดยพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมางานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ"

การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชพิธีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของเกษตรกรไทย โดยในปี 2560 นี้ ปฏิทินหลวงได้กำหนดให้ วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2560 เป็นวันสวดมนต์เริ่มการพระราชพิธีพืชมงคลภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2560 เป็นวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใน ปี 2560 นี้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงิน จะทำการคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการหญิงโสด ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขั้นไป สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปีจะดูที่ความเหมาะสมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นทางการ คือ โสดและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว ที่ไม่เป็นทางการ คือ อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกัน สำหรับในปีนี้ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวนันทินี ทองคงเหย้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาวฉมาพันธ์ สุพรมอินทร์ นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวนันทวัน สุวรรณสถิตย์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมชลประทาน นางสาวพรพิมล ศิริการ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร

สำหรับพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีฯ นั้น กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวของลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอบไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกันผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวาและขวัญหลังถูกต้องตามลักษณะที่ดี กีบและข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างของลำตัวจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม งานพระราชพิธี ฯ ทุกปีจะเตรียมพระโคไว้ 2 คู่ ปีนี้พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ส่วนพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง

ส่วนพันธุ์ข้าวที่ใช้ในงานพระราชพิธี ฯ ซึ่งผู้คนในสนามหลวงทุกเพศทุกวัยจะกรูกันเข้าไปยังลานแรกนา เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นสิริมงคลนั้น นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้กรมการข้าวจัดทำขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ข้าว ทรงปลูกพระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธี ฯ โดยเฉพาะ ซึ่งในปี 2560 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,865 กิโลกรัม ประกอบด้วย ข้าวนาสวน 8 พันธุ์ (ปทุมธานี1 ,สังข์หยดพัทลุง ,ขาวดอกมะลิ105 ,กข57 ,กข41 ,กข61 ,กข6 ,ทับทิมชุมแพ) ข้าวไร่ 3 พันธุ์ (ดอกพะยอม ,ซิวแม่จัน และลืมผัว) ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่าง ๆ สำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปี 2560 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป

การเสี่ยงทายในพระราชพิธี ฯ แต่ละปีนั้นประกอบด้วย 2 ช่วง คือ ช่วงแรกพระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนุ่งทับผ้านุ่งเดิมนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้ พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนช่วงที่ 2 คือ ภายหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้วจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็น "วันเกษตรกร" นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา โดยในปี 2560 เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่าง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกได้รับรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณพร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติ มีดังนี้

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 ราย

อาชีพทำนา ได้แก่ นายภาณุสิทธ์ มั่นคง บ้านเลขที่ 209 หมู่ที่ 3 ตำบลชอนไพร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

อาชีพทำสวน ได้แก่ นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ บ้านเลขที่ 33/2 หมู่ที่ 5 ตำบลเขาใหญ่ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายวีนัด สำราญวงศ์ บ้านเลขที่ 141 หมู่ที่ 13 ตำบลหินโคน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ จ่าสิบโทสุทิน ทองเอ็ม บ้านเลขที่ 65 หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย

อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางสาวบัวไข เติมศิลป์ บ้านเลขที่ 151 หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นางสาววาสนา กุญชรรัตน์ บ้านเลขที่ 74/1 หมู่ที่ 8 ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายกรเกียรติ พรมจวง บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 11 ตำบลวังแขม อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายสุทธิ มะหะเถา บ้านเลขที่ 66 หมู่ที่ 3 ตำบลบางนาง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี

อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นางสาวนภาภรณ์ จิวะสุรัตน์ บ้านเลขที่ 16/31 ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นางพิกุล กิตติพล บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 4 ตำบลกะเฉด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางสุดใจ ชมพูมี บ้านเลขที่ 144 หมู่ที่ 3 ตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสมหมาย ธรรมกิจ บ้านเลขที่115 หมู่ที่ 15 ตำบลควนเมา อำเภอรัชฎา จังหวัดตรัง

สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม ได้แก่ นายมงคล ธราดลธนสาร บ้านเลขที่ 411 หมู่ที่ 16 ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายเสมอ หาริวร บ้านเลขที่ 510 หมู่ที่ 11 ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายชาศร สาริโพธิ์ บ้านเลขที่ 251/1 หมู่ที่ 14 ตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี

สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นางสมหมาย หนูแดง บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองแขม อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 13 สถาบัน

กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนานาสนุ่น ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 99/9 หมู่ที่ 7 ตำบลนาสนุ่น อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนป่าคลอก ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 105/2 หมู่ที่ 2 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

กลุ่มเกษตรกรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่วังชะพลู ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 1/5 หมู่ที่ 18 ตำบลวังชะพลู อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร

กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านสี่เหลี่ยมเจริญ ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 185 หมู่ที่ 10 ตำบลแสลง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด ที่ทำการกลุ่ม ชุมชนปากน้ำ 1 เทศบาลนครระยอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาบ้านด่านใหม่ ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 54 หมู่ที่ 2 ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรท่าศาลา ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 31/1 หมู่ที่ 3 ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 เต่างอยพัฒนาศึกษา ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 6 ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จ.สกลนคร

กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านสะเดาซ้าย ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 67/3 หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยน้ำหอม อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์

สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานบ้านดอนรัก ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 32/2 หมู่ที่ 2 ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านจารย์ ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 121 หมู่ที่ 1 ตำบลจารย์ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์

ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ตำบลแวงใหญ่ ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 83 หมู่ที่ 5 ตำบลแวงใหญ่ อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น

วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน ที่ทำการกลุ่มบ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 4 ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์

สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด ที่ทำการสหกรณ์บ้านเลขที่ 82 หมู่ที่ 1 ตำบลย่านตาขาว อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง

สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมพิมาย จำกัด ที่ทำการสหกรณ์บ้านเลขที่ 64 หมู่ที่ 13 ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมเนินมะปราง จำกัด ที่ทำการสหกรณ์บ้านเลขที่ 189 หมู่ที่ 15 ตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางในเขตปฏิรูปที่ดินชากังราว จำกัด ที่ทำการสหกรณ์บ้านเลขที่ 260 หมู่ที่ 10 ตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขนครราชสีมา จำกัด ที่ทำการสหกรณ์บ้านเลขที่ 529/1 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลพัทลุง จำกัด ที่ทำการสหกรณ์บ้านเลขที่ 421 ตำบลคูหาสวรรค์ อำเมือง จังหวัดพัทลุง

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านป่าชิง จำกัด ที่ทำการสหกรณ์บ้านเลขที่ 57/1 หมู่ที่ 1 ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ได้มีการคัดเลือกปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เพื่อเข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2560 จำนวน 4 สาขา ได้แก่

1) นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน

สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย

2) นายยวง เขียวนิล เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน

สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง

3) นายจำนงค์ บุญเลิศ เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน

สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น

4) นายอุทัย บุญดำ เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน

สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย

ทั้งนี้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรดีเด่น และปราชญ์เกษตรทั้งหมด จะเข้ารับพระราชทาน โล่รางวัลในวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2560 ณ บริเวณมณฑลพิธีสนามหลวง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ