นักวิชาการ สจล. แนะ 5 ข้อปฏิบัติ “ต้นไม้” อยู่คู่ “สายไฟ” อย่างยั่งยืน

อังคาร ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๓:๑๖
· สจล. ชี้ "ต้นไม้" และ "สายไฟ" สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน แนะ กฟน. - กฟภ. - กทม.คลอดแผนแม่บทบริหารจัดการร่วมกัน พร้อมเดินหน้านำร่องแก้ปัญหาสายไฟกับต้นไม้ ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อให้ต้นไม้สามารถยืนต้นให้ร่มเงาอยู่ร่วมกับสายไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน ชี้การปรับเปลี่ยนสายไฟให้เป็นแบบฉนวนหุ้ม 2 ชั้น และการเว้นระยะปลอดภัยตามข้อกำหนด ช่วยเพิ่มความปลอดภัยป้องกันเหตุไฟไหม้และไฟดูดได้ พร้อมยกตัวอย่าง 5 ข้อปฏิบัติ กรณีศึกษาเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อการคงอยู่อย่างยั่งยืนระหว่างต้นไม้กับสายไฟ ซึ่งภายหลังการปรับเปลี่ยนสามารถแก้ปัญหาไฟฟ้าดับจากสายไฟพันต้นไม้ อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มโอโซนให้กับเมือง และลดเสียงรบกวนในเมืองลงได้ถึง 10 เดซิเบล ขณะเดียวกันยังเร่งดำเนินการตามแผนแม่บทการปรับปรุงภูมิทัศน์มหาวิทยาลัย ตามแผนแม่บทระหว่างปี 2558 - 2562 โดยการแก้ปัญหาสายไฟกับต้นไม้เพื่อเป็นต้นแบบนำร่อง ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ

จากกรณีสังคมออนไลน์แชร์ภาพการตัดต้นไม้ บริเวณริมถนนพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ในลักษณะการตัดแบบบั่นยอดเป็นตอไร้กิ่งใบ ไม่ใช่การตัดแบบทอนยอดตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันเหตุไฟไหม้และไฟดูดจากการที่สายไฟพันกับต้นไม้ จนหลายฝ่ายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียง ถึงวิธีการตัดต้นไม้ในลักษณะนี้ว่าถูกต้องตามหลักวิชาการ และจะมีผลทำให้ต้นไม้ยืนต้นตายหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลทำให้พื้นที่สีเขียวใน กทม. ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เฉลี่ยเพียง 3 ตารางเมตร/คน ลดน้อยลงไปอีก ขณะที่ค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกแนะนำอยู่ที่ 9 ตารางเมตร/คน นั้น

รศ.ดร.นรเศรษฐ พัฒนเดช อาจารย์ประจำห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัญหาสายไฟพันกับต้นไม้ถือเป็นปัญหาทางเทคนิคที่ก่อให้เกิดเหตุไฟไหม้ได้ เนื่องจากความร้อนจากสายไฟที่ไปโดนกับต้นไม้ รวมไปถึงเหตุไฟดูดจากกระแสไฟแรงสูงที่สามารถรั่วไหลจากสายไฟได้ในกรณีที่มีความชื่นในอากาศสูง ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จึงออกข้อปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากเหตุดังกล่าว ทั้งการเปลี่ยนสายไฟจากแบบเปลือยเป็นแบบฉนวนหุ้ม 2 ชั้น ซึ่งช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น การติดตั้งตัวล็อคสายไฟช่วยลดการแกว่งของสายไฟ ไม่ให้ไปโดนวัตถุต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง รวมไปถึงการกำหนด "ระยะปลอดภัย" ระหว่างสายไฟกับต้นไม้และวัตถุสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยกรณีสายไฟฟ้าแรงสูงนั้น ด้านข้างต้องเว้นระยะปลอดภัย 50 ซม. ต่อกระแสไฟฟ้า 100 เควี ส่วนแนวสูงปกติเสาไฟสูง 10 เมตร อนุญาตให้ต้นไม้สูงได้ไม่เกิน 7.5 เมตร เพื่อให้เหลือพื้นที่ปลอดภัยด้านบน 2.5 เมตร ดังนั้น ในทางปฏิบัติหากต้องการให้เกิดความปลอดภัย และลดความเสียหายจากไฟไหม้ ไฟดูด และไฟดับ โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ หน่วยงานเจ้าของพื้นที่จำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสม ทั้งสภาพพื้นที่ พันธุ์ไม้ รวมไปถึงรูปแบบการตัดแต่งกิ่งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

ด้าน รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยกตัวอย่างกรณีศึกษาการบริหารจัดการต้นไม้ ให้สามารถอยู่ร่วมกับสายไฟได้อย่างยั่งยืน ของเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในอดีตเป็นเมืองที่ประสบปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง โดยมีสาเหตุจากต้นไม้เป็นอันดับหนึ่งกว่า 70% ส่งผลให้ในปี 2012 ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากการปรับรูปแบบการตัดแต่งกิ่งไม้ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบระบุว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ต้นละ 20% สรุปแล้วในช่วงเริ่มต้นเมืองซานฟรานซิสโก ใช้เงินลงทุนเปลี่ยนแปลงทั้งเมืองไปมากถึง 18,000 ล้านเหรียญ ซึ่งภาพรวมแม้จะดูเป็นตัวเลขที่สูงมากแต่ในระยะ 5 ปี ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้ลดลงเหลือเท่าเดิม จึงมองว่าตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น สามารถนำเอาองค์ความรู้มาประยุตก์ใช้กับประเทศไทยได้

ทั้งนี้ ข้อสรุปจากรายงานดังกล่าวได้เสนอ 5 แนวทางปฏิบัติ เพื่อการคงอยู่อย่างยั่งยืนระหว่างต้นไม้กับสายไฟ ดังนี้ 1. การโซนิ่งพื้นที่หรือยกเป็นเขตบริหารจัดการพิเศษที่มีความละเอียดอ่อน โดยกรณีศึกษาของเมืองซานฟรานซิสโก ในพื้นที่ที่ไม่สามารถตัดต้นไม้ได้นั้น หากเกิดเหตุกิ่งไม้หล่นใส่รถยนต์ของผู้อื่น เจ้าของบ้านไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย 2. การวางแผนดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและบริบทของสังคม โดยเริ่มตั้งแต่การวางผังเมือง การใช้ชนิดของสายไฟให้เหมาะสม การเลือกพันธุ์ไม้ รวมไปถึงวิธีการตัดแต่งกิ่ง 3. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เช่น การพัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับกระแสไฟฟ้าติดตั้งบริเวณโคนต้นไม้ ช่วยให้รู้ว่ามีกระแสไฟรั่วไหลจนอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ 4. การนำชุดข้อมูลและองค์ความรู้มาพูดคุยร่วมกัน และ 5. การทำงานที่เป็นระบบระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในกรณีของกรุงเทพมหานครนั้น ทั้งการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเจ้าของพื้นที่อย่าง กทม. ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

"จริงๆ แล้วต้นไม้กับสายไฟสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน แต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่เป็นระบบ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ซึ่งจากตัวอย่างและแนวทางปฏิบัติทั้ง 5 ข้อ กรณีศึกษาของเมืองซานฟรานซิสโกจะเห็นว่า นอกจากการตัดแต่งกิ่งตามหลักวิชาการที่ถูกต้องแล้ว ยังมีการพันฒนารูปแบบบริหารจัดการด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดเป็นแนวทางที่ยั่งยืนด้วย ซึ่งผลจากการลงทุนในครั้งนั้นนอกจากทำให้ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง และเพิ่มโอโซนให้กับเมือง อีกทั้งแนวต้นไม้ยังช่วยลดเสียงรบกวนในเมืองลงได้ถึง 10 เดซิเบล" รศ.ดร.สุรินทร์ กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ย้ำว่าการแก้ปัญหาการตัดแต่งต้นไม้ริมทางไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยต้องเริ่มจากที่ทุกคนมองว่าพื้นที่ต่างๆ คือบ้าน แน่นอนว่าไฟฟ้ามีความสำคัญมากในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันต้นไม้ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะการเสียต้นไม้ในเมืองหลวงเพียงไม่กี่ต้น เท่ากับว่าเรากำลังสูญเสียพื้นที่สีเขียวสำหรับฟอกอากาศ ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีน้อยอยู่แล้วให้ยิ่งน้อยลงไปอีก โดยในส่วนของ สจล. ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ หนึ่งในแผนแม่บทระหว่างปี 2558 - 2562 คือการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยการแก้ปัญหาสายไฟกับต้นไม้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นต้นแบบนำร่องแก่สถาบันและหน่วยงานอื่นๆ ในการสร้างภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น

นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย