สถานการณ์แรงงานช่วงครึ่งปีหลัง 2560 และ ข้อเสนอ เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติหรือวันกรรมกรสากล

อังคาร ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๓:๓๑
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง สถานการณ์การเลิกจ้างจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จะเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอุตสาหกรรมและงานบางลักษณะ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะช่างประเภทต่างๆ อุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยว บุคลากรทางการแพทย์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์ งานแม่บ้านและกิจการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น มีแรงงานไทยจำนวนมากขึ้นตามลำดับที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ตัวเลขล่าสุดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 คนงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศยอดรวมมากกว่า 150,000 คน สร้างรายได้กลับประเทศประมาณ 10,249 ล้านบาท (รายได้ส่งกลับประเทศจากการทำงานเฉพาะเดือนมีนาคม 2560) การไหลออกของแรงงงานทักษะสูงและช่างเทคนิคต่างๆทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวและขาดแคลนแรงงาน ขณะที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทักษะต่ำไม่สามารถทดแทนได้ เกิดความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน การปรับค่าแรงตามมาตรฐานแรงงานฝีมือแรงงานจึงมีความจำเป็นต่อการรักษาแรงงานทักษะและช่างเทคนิคให้ทำงานในระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป

ภาวะ การเลิกจ้าง ยังคงมีอยู่ในกิจการอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น กิจการบริการสถานบันเทิงมีการเลิกจ้างสูงในช่วงที่ผ่านมา กิจการก่อสร้างขนาดเล็ก กิจการสื่อสารมวลชน (กระทบหนัก คือ สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวีดิจิทัลและธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อดั้งเดิม) กิจการทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา กิจการเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมส่งออกที่มีอัตราการเติบโตติดลบต่อเนื่องหลายปี เป็นต้น ภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลัง การเลิกจ้างมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องและอัตราว่างงานในช่วงครึ่งปีหลังไม่น่าจะเกิน 1% ตลาดแรงงานค่อนข้างตึงตัว แรงงานในบางประเภทขาดแคลน รัฐบาลจึง

ควรพิจารณาให้มีการเปิดกว้างอนุญาตให้แรงงานบางประเภทเข้ามาทำงานได้เพิ่มขึ้นหรือพิจารณาให้มีการเปิดเสรีตลาดแรงงานในส่วนที่ขาดแคลนอย่างชัดเจน

แรงงานระดับล่างรายได้ต่ำยังคงมีภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง สะท้อนว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต จึงขอเสนอให้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีโดยต้องปรับขึ้นไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อของแต่ละปี

แนวโน้มในระยะนี้ อาจจะยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของการทำงานต่ำระดับ (underemployment) ขณะนี้มีทำงานต่ำระดับ 2-3 แสนคน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะทำงานไม่เต็มเวลาและต้องการทำงานเพิ่มเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ส่วนการลดชั่วโมงการทำงาน OT มีแนวโน้มลดลงจากอุตสาหกรรมส่งออกที่เคยหดตัวหรือมีการเติบโตต่ำเริ่มมีสัญญาณขยายตัวดีขึ้น

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้มีข้อเสนอแปดข้อต่อรัฐบาลและขบวนการแรงงาน องค์กรนายจ้าง เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติหรือวันกรรมกรสากล ดังนี้

ข้อหนึ่ง เสนอให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคม ระบบคุ้มครองและระบบสวัสดิการแรงงานเพิ่มเติม หลังจากรัฐบาลได้ขยายสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (แรงงานนอกระบบ) แล้ว ควรขยายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วย แต่ควรเก็บสมทบเพิ่มทั้งจากนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินของเงินกองทุนประกันสังคมโดยเฉพาะกองทุนชราภาพ

ข้อสอง รัฐบาลควรจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้าหรือระบบรัฐสวัสดิการให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยหาแหล่งรายได้จากภาษีทรัพย์สิน นอกจากทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนส่วนใหญ่ดีขึ้นแล้วยังเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสร้างเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอีกทางหนึ่งด้วย อันนำไปสู่สันติสุขของสังคมและประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคง

ข้อสาม พิจารณาดำเนินการแปรเปลี่ยน สำนักงานประกันสังคม จาก หน่วยราชการ เป็น องค์กรของรัฐหรือองค์กรมหาชนที่บริหารงานแบบเอกชนจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ระบบค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกองทุนประกันสังคมให้แข่งขันได้กับภาคเอกชนเพื่อดึงดูดคนที่มีความรู้ความสามารถมาทำงาน ซึ่งอาจจะใช้รูปแบบเดียวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต เป็นต้น

ข้อสี่ เสนอให้มีการศึกษาเพื่อพิจารณาจัดตั้ง ธนาคารแรงงาน เพื่อกระจายกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตประเภท "ทุน" สู่ผู้ใช้แรงงาน ก่อให้เกิด "ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ" อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานอันมั่นคงของประชาธิปไตยทางการเมือง ธนาคารแรงงานจะเป็นสถาบันสำคัญในการพัฒนา ธุรกิจรายย่อย (Micro Business) และ วิสาหกิจหรือสหกรณ์ที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน (Social enterprise or Cooperative for workers and the poor)

ข้อห้า รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิพื้นฐานในการรวมกลุ่ม และ อำนาจในการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานพื้นฐานและเป็นสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ระดับความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสถานประกอบการในไทยโดยภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในสถานประกอบการมากขึ้น ต้องส่งเสริมให้ลูกจ้างได้รวมกลุ่มกัน และ กลไกองค์กรลูกจ้างและสหภาพแรงงานที่มีคุณภาพยังทำให้ ระบบแรงงานสัมพันธ์ดีขึ้นในระยะยาวอีกด้วย

ข้อหก การเตรียมมาตรการรับมือกับผลกระทบจาก Disruptive Technology (เทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจ) ต่อแรงงาน รวมทั้งมีมาตรการพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับผู้ที่มีทักษะไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เติบโตอยู่ในขณะนี้หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ส่วนในระยะยาว หากมี Disruptive Technology and Innovation การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการผลิต ธุรกิจและเศรษฐกิจ บวกเข้ากับพลวัตของระบบทุนนิยมโลก แล้วเราไม่มียุทธศาสตร์ในตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างเหมาะสม และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในระบบการศึกษาไทยให้สามารถผลิตคนคุณภาพใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ หากเรามียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เราจะไม่เผชิญกับปัญหาวิกฤติการจ้างงานและเศรษฐกิจในอนาคต มีการคาดการณ์โดยนักอนาคตศาสตร์ว่า ในปี ค.ศ. 2030 ความก้าวหน้าเทคโนโลยีจะทำให้ตำแหน่งงานแบบเดิมในบางอาชีพหายไปไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านตำแหน่งงาน ขณะเดียวกันก็มีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆที่คนทำงานต้องมีทักษะใหม่ๆ ซึ่งระบบการศึกษาไทยต้องทำหน้าที่ในการผลิตคนรองรับตั้งแต่วันนี้ ขณะเดียวกัน IMD คาดการณ์ว่า ตำแหน่งงานในประเทศไทยจะหายไปจำนวนมากในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีแบบเก่าในหลายกิจการอุตสาหกรรม

ข้อเจ็ด การสร้างระบบ กลไกและกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อแรงงานในระบบเหมาช่วง กลุ่มที่น่าเห็นใจมากที่สุด คือ บรรดาแรงงานทักษะต่ำและเป็นแรงงานนอกระบบทั้งหลายที่อยู่ภายใต้ระบบการทำงานในบริษัทเหมาช่วงจะได้รับผลกระทบจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจมากที่สุด แม้นระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการลดต้นทุนระยะสั้น มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ ภาวะการผลิตและยอดขาย ปัญหาในระบบการผลิตแบบเหมาช่วงเป็นปัญหาในระดับสากล เรื่อง ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้ประกอบการในระบบการผลิตแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเองก็แสวงหาวิธีในการลดต้นทุนการผลิต การผลิตที่มีความยืดหยุ่นตามภาวะเศรษฐกิจ จึงเลือกที่จะ ส่งออกงานในบางลักษณะให้บริษัทเหมาช่วงรับไปทำเพื่อให้มีการจ้างงานแบบยืดหยุ่น

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานไปจัดระบบให้ระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง มีมาตรฐานการจ้างงานที่เป็นสากล ไม่เช่นนั้นผู้ใช้แรงงานในระบบเหมาช่วงจะถูกเอาเปรียบอย่างมาก หลักคิด

ของการยกระดับมาตรฐานระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงเพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงาน เพราะแรงงานแตกต่างจากสินค้าอื่นๆในระบบเศรษฐกิจ และเกี่ยวกับความอยู่รอดและคุณภาพของชีวิตของคนงานและครอบครัว การกำหนดมาตรฐานแรงงานในระบบเหมาช่วงต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคมด้วยไม่สามารถกำหนดจากอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงาน ความผันผวนของภาวะการผลิตและเศรษฐกิจเท่านั้น อีกประการหนึ่งลูกจ้างโดยเฉพาะในระบบเหมาช่วงมีอำนาจต่อรองน้อย ลูกจ้างในบริษัทเหมาช่วงมักไม่มีสหภาพแรงงาน

ข้อแปด รัฐบาลควรเพิ่มการลงทุนทางด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น รวมทั้ง ระบบความปลอดภัยในการทำงาน และ รัฐบาลควรจัดสรรเงินงบประมาณให้สถาบันปลอดภัยฯ กระทรวงแรงงานให้เพียงพอ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ