ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 นี้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง (anchor rating) ที่ 'A+(tha)' หนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ นอกจากนี้หนึ่งในข้อกำหนดสิทธิที่สำคัญของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวคือเรื่องปัจจัยที่แสดงว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability trigger) โดยมีการกำหนดไว้ว่าธนาคารจะมีสถานะเป็นธนาคารที่ไม่สามารถดำเนินกิจการได้เมื่อธนาคารกลางหรือทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารเพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และผู้ถือหุ้นกู้จะต้องรองรับผลขาดทุนในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วนได้ (partial write-down) โดยไม่ได้เป็นการบังคับให้ตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down)
นอกจากนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 นี้ จะมีลำดับในการได้รับชำระหนี้ก่อน (senior) ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่มีคุณสมบัติสามารถรองรับผลขาดทุนได้ (loss absorption features) ส่วนในกรณีที่มีเหตุการณ์ให้เกิดการตัดหนี้สูญ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 นี้จะถูกตัดเป็นหนี้สูญในสัดส่วนที่เท่ากัน (pari passu) กับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 และมีคุณสมบัติสามารถรองรับผลขาดทุนได้โดยการตัดเป็นหนี้สูญชุดอื่นๆ ที่ออกโดยธนาคาร
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB ที่ 'A+(tha)' เป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิงในการพิจารณาอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าว เนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารเอง ซึ่งฟิทช์เชื่อว่าสถานะทางการเงินโดยรวมของธนาคารถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดสำหรับความเสี่ยงที่ผู้ถือตราสารหนี้ของธนาคารจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) ซึ่งก็คือความเสี่ยงที่ธนาคารจะมีสถานะเป็นธนาคารที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viable) ทั้งนี้ ฟิทช์ ไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตลงเพิ่มเติมจากอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิงเนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption feature)
ความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB พิจาณาจากคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรที่มีเสถียรภาพของธนาคาร รวมทั้งฐานะเงินกองทุนและสภาพคล่องของธนาคารที่อยู่ในระดับดี TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านสินเชื่อและเงินฝากที่ประมาณ 6%
ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB น่าจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าว
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB หากธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ อัตรากำไร ฐานะสภาพคล่อง หรืออัตราส่วนเงินกองทุนที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมาก ในทางกลับกันฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหากธนาคารสามารถรักษาปัจจัยทางการเงินดังกล่าวให้ปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
อันดับเครดิตของ TMB ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศอันดับเครดิตในครั้งนี้ มีดังนี้:
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ 'BBB-'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ 'F3'
- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงินที่ 'bbb-'
- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ '3'
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ 'BB+'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'A+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1(tha)'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของโครงการหุ้นกู้ EMTN มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯที่ 'BBB-'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ 'BBB-'
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาทที่ 'A(tha)'
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (ตามเกณฑ์บาเซล 2) ที่ 'A(tha)'