"กกพ. จึงขอตอบข้อสงสัยว่า ราคาก๊าซปากหลุมในช่วงต้นปี เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นช่วงขาลงจริง แต่ราคาก๊าซจะอ้างอิงราคาน้ำมันย้อนหลัง ประมาณ 8 – 12 เดือน ราคาก๊าซจึงมีการปรับในช่วงเดือนเมษายน ดังนั้น ในช่วงเดือนเมษายน – สิงหาคม จึงเป็นช่วงราคาขาขึ้น นอกจากนั้น ราคาก๊าซที่นำไปคิดค่าไฟฟ้า กกพ. ต้องดูราคาก๊าซทั้งหมด ที่เรียกว่า ราคาพูล (Pool) ซึ่งประกอบด้วย ก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนม่า รวมถึงนำเข้า LNG และก๊าซจากแหล่งในประเทศ เช่น น้ำพอง หรือลานกระบือ ซึ่งราคาพูล (Pool) ที่ใช้คำนวณเป็นช่วงขาขึ้น ประมาณ 210 บาท/ล้านบีทียู ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม เมื่อรวมค่าผ่านท่อและค่าดำเนินการจัดหาด้วย ทำให้ราคาในการใช้คำนวณ จึงอยู่ที่ 244.58 บาท/ล้านบีทียู"
สำหรับใน ส่วนราคาน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่ไม่ตรงกัน เนื่องมาจากในข่าวประชาสัมพันธ์เป็นค่าใช้จ่ายในภาพรวมที่รวมถึงเอกชน IPPs SPPs ด้วย แต่ของเอกสารรับฟังความคิดเห็นเป็นเฉพาะของ กฟผ. เท่านั้น จึงทำให้ค่าที่แสดงแตกต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน สำนักงาน กกพ. ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมหมายเหตุรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งในเอกสารประชาสัมพันธ์ และเอกสารการรับฟังความคิดเห็นแล้ว
"ขณะนี้ สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระหว่างวันที่ 19 เมษายน 2560 – 3 พฤษภาคม 2560 เวลา 12.00 น. ซึ่งหากผู้ใดมีข้อคิดเห็น สามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ ผ่านช่องทาง www.erc.or.th โดยสำนักงาน กกพ. จะรวบรวมผลรับฟังความเห็นในประเด็นต่างๆ เพื่อมาประกอบการพิจารณาขึ้นค่าเอฟที ทั้งนี้ จะมีการชี้แจงรายละเอียดให้ทราบต่อไป" นายวีระพล กล่าวย้ำ