กกพ. ชี้แจงผลการพิจารณาค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 60 ย้ำสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

พุธ ๐๓ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๕:๒๓
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. ชี้แจงกรณีที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2560 ที่ -24.77 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดที่แล้ว (ม.ค.-เม.ย. 60) เท่ากับ 12.52 สตางค์ต่อหน่วย จนเกิดกระแสข่าวถึงสาเหตุใดที่ทำให้ค่าเอฟทีในงวดนี้ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งๆ ที่ราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือในเรื่องการแบกภาระการรับซื้อพลังงานทดแทนที่มากเกินไป ซึ่งประเด็นข้อสงสัยนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้

"กกพ. ขอตอบข้อสงสัยในประเด็นราคาก๊าซธรรมชาติว่า ราคาก๊าซปากหลุมจากอ่าวไทยในช่วงต้นปี เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นช่วงขาลงจริง แต่ราคาก๊าซจะอ้างอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง ประมาณ8 – 12 เดือน ราคาก๊าซจึงมีการปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ดังนั้น ในช่วงเดือนเมษายน – สิงหาคม จึงเป็นช่วงขาขึ้นของราคาก๊าซ นอกจากนั้น ราคาก๊าซที่นำไปคิดค่าไฟฟ้า กกพ. ต้องดูราคาก๊าซทั้งหมด ที่เรียกว่า ราคาพูล (Pool) ซึ่งประกอบด้วย ก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนม่า รวมถึงนำเข้า LNG และก๊าซจากแหล่งบนบกในประเทศ เช่น น้ำพอง หรือลานกระบือ ซึ่งราคาพูล (Pool) ที่ใช้คำนวณเป็นช่วงขาขึ้นเท่ากับ 210 บาท/ล้านบีทียู ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2560 ซึ่งเมื่อรวมค่าผ่านท่อและค่าดำเนินการจัดหาด้วย จึงทำให้ราคาในการใช้คำนวณอยู่ที่ 244.55 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.35 บาท/ล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.97 จากช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2560" นายวีระพล กล่าว

สำหรับตัวเลขราคาน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่ไม่ตรงกัน เนื่องมาจากในข่าวประชาสัมพันธ์เป็นค่าใช้จ่ายในภาพรวมที่รวมถึงเอกชน IPPs และ SPPs ด้วย แต่ในส่วนของเอกสารรับฟังความคิดเห็นเป็นเฉพาะของ กฟผ. เท่านั้น จึงทำให้ค่าที่แสดงแตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐในส่วน Adder และ FiT ในเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 ที่ปรับเพิ่มขึ้น 388.32 ล้านบาท มาอยู่ที่ 13,536.41 ล้านบาท ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ค่าเอฟทีในงวดนี้ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในทางกลับกัน เนื่องจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 สูงขึ้น ดังนั้น เมื่อเทียบเป็นอัตราต่อหน่วยแล้วทำให้อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 ลดลงจากงวดที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้ค่าเอฟทีในงวดนี้ลดลง 1.20 สตางค์ต่อหน่วย

และในกรณีที่หลายคนเข้าใจว่าค่าบริการรายเดือนและเงินประกันการใช้ไฟฟ้ามีผลต่อการคิดคำนวณค่าเอฟที นับว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากค่าบริการรายเดือน เป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ครอบคลุมการดำเนินงาน 4 ส่วน ได้แก่ การจดหน่วยไฟฟ้า การพิมพ์และจัดส่งบิล การรับชำระ และการบริการลูกค้า ซึ่งค่าบริการนี้ทาง กกพ. ได้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 38.22 บาท/ราย/เดือน แต่เรียกเก็บบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก (ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน) เพียง 8.19 บาท/ราย/เดือน ซึ่งได้รับการอุดหนุนอยู่ และสำหรับบ้านอยู่อาศัยขนาดใหญ่ จะเรียกเก็บที่ 38.22 บาท/ราย/เดือน ตามต้นทุนจริง

สำหรับในส่วนของเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นการให้บริการไฟฟ้าที่มีลักษณะเป็นการใช้ไฟฟ้าไปก่อนแล้วจึงมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งในส่วนนี้ กกพ. ได้กำกับดูแลให้การไฟฟ้าต้องจ่ายคืนผลประโยชน์แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งในกรณีที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม การไฟฟ้าได้เริ่มจ่ายคืนดอกผลให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วในปี 2556 และ 2557 และกรณีที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กจะทำการจ่ายคืนดอกผลทุก 5 ปี เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 โดยการไฟฟ้าจะเริ่มจ่ายคืนดอกผลให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าครั้งแรกในปี 2563 ดังนั้น ค่าบริการรายเดือนและเงินประกันการใช้ไฟฟ้า จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคิดคำนวณต้นทุนค่าเอฟทีแต่อย่างใด

"อย่างไรก็ตาม จากการที่ กกพ. ได้พิจารณาขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 นี้ กกพ.ได้พิจารณาถึงปัจจัยและผลกระทบที่จะส่งผลต่อผู้ประกอบการภาคธุรกิจและประชาชนอย่างรอบคอบแล้ว เนื่องจากถ้าไม่พิจารณาปรับค่าเอฟทีขึ้นในงวดนี้ จะส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 60 ให้ปรับตัวสูงขึ้นกว่างวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 และหากกรณีที่ กกพ. ตรึงค่าเอฟทีงวดนี้ จะทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับภาระคิดเป็นเงินจำนวนประมาณ 7,786 ล้านบาท และในที่สุดแล้วผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องจ่ายค่าไฟในส่วนนี้คืนแก่ กฟผ. ภายหลัง" นายวีระพล กล่าวย้ำ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version