นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน กฟก. ได้ชำระหนี้แทนเกษตรกรแล้วทั้งสิ้น 28,818 ราย เป็นเงินรวม 5,968,312,576.24 บาท แยกเป็นสถาบันเจ้าหนี้ ได้แก่ ธ.ก.ส. 3,334 ราย ธนาคารพาณิชย์ 3,194 ราย นิติบุคคล 610 ราย สหกรณ์ 21,229 ราย และหนี้ NPA 451 ราย และตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 มาตรา 37/9 วรรคสอง เมื่อกองทุนรับภาระชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ทรัพย์สินของเกษตรกรที่ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ตกเป็นของกองทุนและเกษตรกรจะได้รับทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันคืนไปจากกองทุนโดยการเช่าซื้อ หรือซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเช่าซื้อ หรือซื้อทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันคืนไปจากกองทุน และดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของเกษตรกรที่ตกเป็นของกองทุน พ.ศ. 2553
ในการดำเนินงานปีงบประมาณ 2560 ช่วง 2 ไตรมาส (ต.ค. 59 – มี.ค. 60) กฟก. ได้โอนหลักทรัพย์คืนให้เกษตรกรที่ได้รับการชำระหนี้แทนจากกองทุน และเกษตรกรได้ชำระหนี้คืนกองทุน เสร็จสิ้นตามสัญญาและขอไถ่ถอนหลักประกันคืน จำนวน 366 ราย คิดเป็นเนื้อที่ 4,176 ไร่ 3 งาน 72.8 ตารางวา ซึ่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ตระหนักว่าการรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรเป็นภารกิจที่สำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามเจตนารมณ์ เพราะยังมีเกษตรกรจำนวนมากที่ต้องการหลักประกันคืน ดังนั้น เมื่อเกษตรกรสมาชิกที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาและขั้นตอนวิธีการขอไถ่ถอนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันคืน และได้รับหลักประกันคืนจากกองทุนแล้ว หากสมาชิกยื่นความจำนงขอหลักประกันคืน และมีคุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวข้างต้น กฟก. จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ที่ผ่านมา กฟก. มีการโอนหลักประกันคืนให้เกษตรกรตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงเดือนมีนาคม 2560 ไปแล้ว จำนวน 10,593 ไร่ 1 งาน 13.9 ตารางวา นับเป็นความภาคภูมิใจของ กฟก. ที่สามารถรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลาน และเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การแก้ปัญหาไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกร นายสมยศกล่าว.