สวทช. ส่งมอบเครื่องบิน Cozy Mark IV (โคซี่ มาร์ค โฟร์) แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เสริมทักษะฝึกปฏิบัติซ่อมบำรุงอากาศยาน ตอบสนองนโยบายอุตสาหกรรมการบินเป้าหมายใหม่

พฤหัส ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๓:๔๒
ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ส่งมอบเครื่องบิน Cozy Mark IV (โคซี่ มาร์ค โฟร์) ชนิด Composite (คอมโพสิท) 4 ที่นั่ง ให้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ โดย ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ นับเป็นเครื่องบินลำแรกของประเทศไทยที่ประกอบโดยเยาวชนไทย และสามารถใช้งานจริงได้ ภายใต้โครงการวิศวกรรมการออกแบบและสร้างเครื่องบิน Cozy Mark IV Thailand ของ สวทช. ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากกว่า 7 ปี โดยมี ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. ผศ.ปราโมทย์ อนันต์วราพงษ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพ และ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบิน ที่กำกับดูแลและควบคุมโครงการฯ ร่วมในพิธีส่งมอบ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า "สวทช. สนับสนุนการสร้างความรู้และความตระหนักในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อต่อยอดให้เกิดผลงานการออกแบบและวิศวกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวไทยของไทย ซึ่งวิศวกรรมศาสตร์ เป็นศาสตร์หนึ่งที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตามเด็กไทยโดยเฉพาะระดับชั้นมัธยมศึกษา ได้รับการพัฒนาในสาขานี้ไม่มากนัก ประกอบกับยังขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในโรงเรียนที่ให้ความรู้และคำแนะนำ ส่งเสริมให้มีความรู้ ทักษะพื้นฐาน ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์จนเกิดนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม จากความสำคัญดังกล่าว สวทช. ได้จัดทำโครงการวิศวกรรมออกแบบและสร้างเครื่องบิน Cozy Mark IV Thailand กิจกรรมหนึ่งในพันธกิจพัฒนากำลังคน เพื่อพัฒนาทักษะทางวิศวกรรมให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา โดยการแนะนำและควบคุมของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบิน ได้แก่ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี ด้วย สวทช. ตระหนักดีว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพสูงพอที่จะสร้างเครื่องบินได้ หากได้รับการดูแลให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และมีการควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิดโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการต่อเนื่องมากว่า 7 ปี มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการเพื่อฝึกทักษะวิศวกรรมที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จำนวนถึง 3,105 คน โดยนักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างอากาศยานที่สามารถโดยสารได้จริงตั้งแต่การสร้างส่วนโครงลำตัวเครื่อง การติดตั้งระบบเครื่องยนต์ และการวางระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์"

"เครื่องบิน Cozy Mark IV ชนิด Composite เป็นเครื่องบิน 4 ที่นั่ง เครื่องยนต์ 360 แรงม้า สามารถรับน้ำหนักได้มากที่สุด 2,050 ปอนด์ ประกอบด้วยวัสดุ composite (คือ วัสดุที่ประกอบด้วยการรวมวัสดุมากกว่า 2 ประเภทเข้าด้วยกัน) โดยโครงการดำเนินการจนถึงขั้นเตรียมพร้อมนำไปทดสอบใช้งานจริง ได้แก่ ระบบน้ำมันเครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้าเครื่องยนต์ ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง และทดสอบเครื่องยนต์พร้อมใบพัด รวมทั้งได้ทำการ taxi (ขับจริงบนถนน) แล้ว ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นับเป็นเครื่องบินลำแรกของไทยที่ประกอบโดยเยาวชนไทยและใช้งานจริงได้ และเพื่อให้เครื่องบิน Cozy Mark IV มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้มีความสนใจนำเครื่องบินดังกล่าว ไปใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ภาควิชาวิศวกรรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ" ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยนักปฏิบัติแห่งหนึ่งของเมืองไทยที่มีความเข้มแข็งในความเป็นช่าง และเคยมีพื้นฐานเปิดการเรียนการสอนด้านอากาศยานมาแล้ว จึงได้เล็งเห็นช่องทางที่จะสร้างคน สร้างบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินที่กำลังเคลื่อนเข้ามาสู่ภูมิภาคแห่งนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อพัฒนาและจัดการเรียนการสอนด้านอากาศยานที่ได้มาตรฐานในระดับสากล และยกระดับการศึกษาด้านอากาศยานของประเทศ ให้ตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมของประเทศ และยังนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยด้วย และมีการดำเนินการหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน มาตรฐาน EASA Part 66 ( CAT B1.1 และ CAT B2) เปิดสอนในรูปแบบของการฝึกอบรม โดยใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร นอกจากนี้หลักสูตรดังกล่าว ยังเป็นหลักสูตรที่เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การมาตรฐานการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency : EASA) ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ (Certificate) สามารถนำไปประกอบอาชีพและต่อยอดเป็นใบอนุญาต (License) ตามมาตรฐาน EASA ได้"

"มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มีความสนใจนำเครื่องบิน Cozy Mark IV ไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนในหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA PART 66 CAT B1 เพื่อให้นักเรียนสามารถฝึกปฏิบัติตามเนื้อหาบทเรียนในหลักสูตร อาทิ ระบบการทำงานของอากาศยานขนาดเล็ก การฝึกปฏิบัติด้านเครื่องยนต์ชนิดลูกสูบ การฝึกปฏิบัติซ่อมโครงสร้างที่เป็นวัสดุผสม และการฝึกปฏิบัติทางระบบสื่อสารของอากาศยานขนาดเล็ก อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะและเกิดความเคยชินในงานซ่อมอากาศยานขนาดเล็กซึ่งนับว่าเป็นการฝึกขั้นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่"อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version