บีโอไอเผยเอกชนลงทุนแล้ว 570,000 ล้านบาท บริษัทชั้นนำของโลกตั้งฐานผลิตในไทย

พฤหัส ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๔:๔๙
บีโอไอเผย เอกชนทุ่มลงทุนจริงแล้วกว่า 570,000 ล้านบาท โดยมีทั้งบริษัทชั้นนำของไทยและต่างชาติ ทั้งรายเดิมและรายใหม่ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมมั่นใจภายใน 3 ปี จะเกิดการลงทุนจริงอีกไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาพรวม การลงทุนตั้งแต่ปี 2559 ถึงไตรมาสแรกคือเดือนมีนาคม 2560 ว่า เกิดการลงทุนจริงแล้วคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 570,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดการลงทุนจริงจากโครงการอื่นๆ ในช่วง 1-3 ปีนี้ อีกไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท

โดยในช่วงที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนทั้งกิจการของคนไทย และจากต่างประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ กลุ่มนักลงทุนไทย เช่น บริษัทกรุงเทพ สเต็มเซลล์ วิจัยและพัฒนา จำกัด ทำการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง บริษัทไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด ทำการวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า บริษัท อินทรีดิจิตอล จำกัด บริษัทของคนไทยที่พัฒนาซอฟแวร์ขนาดใหญ่สำหรับบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนี้กลุ่มบริษัทใหม่ๆ จากต่างประเทศ ที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ บริษัท อีเลฟเว่น สตรีท ของเกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนกิจการซอฟต์แวร์และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท SK Group บริษัทชั้นนำใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีบริษัทในเครือในหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน เคมีภัณฑ์ ไอที และธุรกิจบริการ และการลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนในไทยครั้งแรกของบริษัท

สำหรับบริษัทชั้นนำรายเดิมที่มีการลงทุนอยู่แล้ว และได้ขยายการลงทุนเพิ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกค่าย ขณะเดียวกันก็มีบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกทุกรายได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว และขยายการลงทุนเพิ่ม เช่น บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ขยายกิจการผลิตยางเรเดียลสำหรับยานพาหนะ บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางเรเดียล และบางรายได้ขยายไปสู่การผลิตยางล้ออากาศยาน เช่น บริษัท บริดจสโตน สเปเชียลตี้ไทร์ แมนูแฟค เจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางล้ออากาศยาน บริษัทกู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางล้ออากาศยาน ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของโลกอย่าง บริษัท โรเบิร์ตบ๊อช ออโตโมทีฟเทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้ลงทุนในไทยมายาวนาน ก็ได้ขยายการลงทุนไปสู่กิจการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ของไทย เป็นต้น

หรือในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทมินิแบ นอกจากขยายการลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังขยายการลงทุนไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานด้วย และบริษัท โซนี่ ได้ขยายการลงทุนไปผลิต สมาร์ทโฟนและชิ้นส่วนด้วยเช่นกัน

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บริษัท ชิน-เอทสุ ซิลิโคนส์ ผู้ผลิตซิลิโคนส์อันดับหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น มีการขยายการลงทุนครั้งที่ 3 ของบริษัท และทำให้ประเทศไทยเป็นการขยายฐานที่ใหญ่กว่าในประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำการผลิตพอลิเมอร์ชนิดพิเศษ บริษัท เอ็กซ์พาลแกน ผู้ผลิตกรดแลคติก ได้ต่อยอดไปสู่การผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ในประเทศไทย เป็นต้น

ขอรับส่งเสริมไตรมาสแรก เป็นโครงการใหม่ 70%

นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมของการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 3 เดือน ปีนี้ มีจำนวน 293 โครงการมูลค่าเงินลงทุน 61,980 ล้านบาท โดยเป็นโครงการลงทุนใหม่ 182 โครงการ เงินลงทุนรวม 42,452 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 68 ของเงินลงทุนทั้งสิ้น และเป็นโครงการขยายจากกิจการเดิมที่ได้ลงทุนแล้ว 111 โครงการเงินลงทุน 19,528 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของเงินลงทุนทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 55 ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนเป็นกิจการที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S Curve)จำนวน 76 โครงการ เงินลงทุนรวม 7,800 ล้านบาท เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S Curve) จำนวน 142 โครงการ เงินลงทุนรวม 34,300 ล้านบาท

ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ บีโอไอจะติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยมั่นใจว่าหลังจากนักลงทุนได้ทราบรายละเอียดและความชัดเจนของการส่งเสริมการลงทุนตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไขใหม่และพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะมีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น จะทำให้การขอรับส่งเสริมการลงทุนจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วง ไตรมาส 2 ของปีนี้

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 บีโอไอได้พบปะหารือกับคณะนักลงทุนจากต่างประเทศที่แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวม 12 คณะ จาก 8 ประเทศ (ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ บราซิล เนปาล) รวมจำนวนนักลงทุน 124 ราย โดยมีความสนใจจะลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร รถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนกิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก แม่พิมพ์ ยา เหล็ก ซอฟต์แวร์ และสนใจการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

และในเดือนพฤษภาคมนี้ สำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ จะนำคณะนักธุรกิจนักลงทุนเดินทางมาร่วมดูลู่ทางการลงทุน และเยี่ยมชมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจภายในงาน ซับคอนไทยแลนด์ 2017 รวมจำนวนกว่า 12 คณะ จำนวนรวมประมาณ 400 ราย อาทิ จากประเทศญี่ปุ่น จีน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย เป็นต้น

นอกจากนี้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2560 บีโอไอยังมีกิจกรรมเดินสายชักจูงการลงทุนในประเทศเป้าหมายรวมอีก 21 ครั้ง อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในยุโรป และออสเตรเลีย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม