ส่วนราคาทองคำในประเทศนั้นให้ผลตอบแทนประมาณ 2% หรือ ปรับเพิ่มขึ้น 400 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งให้ผลตอบแทนน้อยกว่าราคาทองคำในตลาดโลกเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ราคาทองต่างประเทศได้ลดช่วงบวกลงหลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,295 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็น 12.5%จากต้นปี ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับแรงกดดันหลังนายเอ็มมานูเอล มาครง ซึ่งเป็นผู้สมัครสายกลางได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ฝรั่งเศสจะเดินหน้ากระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป และกระตุ้นให้เกิดแรงเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ราคาทองคำยังปรับตัวลงแรง หลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดในวันที่ 2-3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงแม้เฟดลงมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด แต่แถลงการณ์หลังการประชุมบ่งชี้ว่ายังมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขในตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนที่แข็งแกร่งเกินคาดสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นางสาวฐิภา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มราคาทองคำในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,200-1,295ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็น 19,750-21,300 บาทต่อบาททองคำ โดยแนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงมาใกล้บริเวณแนวรับ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือ 19,750 บาทต่อบาททองคำ และรอไปขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวขึ้นแต่ไม่สามารถผ่านแนวต้านบริเวณ 1,295 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือ 21,300 บาทต่อบาททองคำได้ และเน้นย้ำว่านักลงทุนควรเน้นทำกำไรระยะสั้นและมีจุดเข้าซื้อ จุดขายทำกำไร หรือจุดตัดขาดทุนที่ชัดเจนและปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด (ราคาไทยคำนวณจากค่าเงินบาท ณ ระดับ 34.80 บาท/ดอลลาร์)
นอกจากการทำกำไรระยะสั้นแล้ว ยังคงแนะนำนักลงทุนให้ถือครองทองคำในพอร์ตลงทุนอย่างน้อย 10-20% เนื่องจากทั่วโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้นจึงควรกระจายการลงทุนส่วนหนึ่งไปยังสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำเพื่อเพิ่มผลตอบแทนและลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน
นางสาวฐิภา กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่จะเข้ามาชี้นำตลาดทองคำในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ได้แก่ การดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ขณะที่ตัวเลขในตลาดแรงงานสหรัฐฯ ประจำเดือนเม.ย.ออกมาดีเกินคาด ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่ามีความเป็นได้มากกว่า 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถายนนี้ ขณะเดียวกันยังต้องจับตาเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสัญญาณการปรับลดขนาดงบดุลของเฟด โดยเจ้าหน้าที่เฟด หลายรายต่างออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนให้เฟดเริ่มต้นปรับลดขนาดงบดุลในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้ หากมีการส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือการปรับลดขนาดงบดุล คาดว่าราคาทองคำจะได้ผลกระทบในเชิงลบเนื่องจากจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นซึ่งจะผลักดันสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าและเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ
ถึงแม้ราคาทองคำจะเผชิญกับปัจจัยกดดันสำคัญคือการเดินหน้าปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ แต่คาดว่าราคาทองคำจะยังคงได้รับแรงหนุนจากความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งอาจเป็นปัจจัยระยะสั้นที่หนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อีกทั้งการเลือกตั้งของอังกฤษในวันที่ 8 มิถุยายนนี้เป็นอีกปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยโดยเฉพาะจากนักลงทุนฝั่งยุโรปเช่นกัน