1. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งที่ 50 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6 - 7 พฤษภาคม 2560 ภายใต้หัวข้อ "Building Together the Prosperity of Asia" โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการ ADB ของไทย ได้มีสุนทรพจน์ถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้นด้วยเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้แนวคิดประเทศไทย 4.0 ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎระเบียบที่เอื้อต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบสวัสดิการด้านสังคมของประเทศ นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับ ADB เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และบทบาทความร่วมมือระหว่างกันภายในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่เศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ค.ศ. 2030
2. ในการหารือโต๊ะกลมของผู้ว่าการ ADB ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ภายใต้หัวข้อ "Responding to Rising Inequality" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่การลดความยากจนและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐานและสวัสดิการแห่งรัฐ และการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน เป็นต้น สำหรับการประชุมระหว่างนาย Takehiko Nakao ประธานธนาคารพัฒนาเอเชียกับผู้ว่าการของประเทศสมาชิก (Governors' Plenary) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ในหัวข้อ "New ADB Strategy 2030" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยได้ขอให้ ADB ดำเนินงานให้เป็นไปตามพันธกิจในการลดความยากจน และสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมหารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินชั้นนำของต่างประเทศ เช่น ADB ธนาคารโลก ธนาคาร Mizuho ธนาคาร HSBC ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) และบริษัทหลักทรัพย์ Daiwa เพื่อหารือถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจการเงินโลก ภาวะเศรษฐกิจของไทยและนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไป โดยสถาบันการเงินเหล่านี้มีความเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
4. นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้เข้าร่วมการประชุม AFMGM+3 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 โดยมีประเด็นการหารือที่สำคัญ ดังนี้
4.1 ภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาค ที่ประชุมเห็นว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 จะยังแข็งแกร่งและเติบโตได้ดีในปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2561 โดยภูมิภาคเอเชียจะคงบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่มีความเหมาะสม โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงมีการดำเนินมาตรการเพื่อปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินนโยบายมหภาคเพื่อความมั่นคง (macroprudential policy) ที่มีประสิทธิภาพและมีความระมัดระวัง แม้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ดีจากภาคการผลิตและการค้าที่กำลังฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจโลกก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้า และการดำเนินนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดมากขึ้น โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าแต่ละประเทศจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแบบผสมผสาน (Policy Mix) เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ขณะเดียวกัน ก็ต้องดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างสมดุลและทั่วถึง นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังตระหนักถึงประโยชน์ของการพัฒนาตลาดทุนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายของเงินทุนระหว่างประเทศ รวมถึงต้องมีการพัฒนาระบบการติดตามและป้องกันความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนควบคู่ไปด้วย
4.2 กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ที่ประชุมรับทราบแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การหารือความเป็นไปได้ในการเพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ในกรณีที่สมาชิกประสบปัญหาสภาพคล่องและยังไม่ได้เข้าโครงการความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund De-linked Portion: IMF De-linked Portion) (2) การจัดทำยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานในระยะปานกลางของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกลไก CMIM และ (3) ความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ประกาศวิสัยทัศน์โยโกฮามา (Yokohama Vision) ในการกำหนดทิศทางความร่วมมือของอาเซียน+3 โดยครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการรองรับผลกระทบของภูมิภาคอาเซียน+3 และการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของอาเซียน+3
สำหรับการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งที่ 51 ที่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์จะเป็นเจ้าภาพ และการประชุม AFMGM+3 ครั้งที่ 21 ที่ประเทศสิงคโปร์และสาธารณรัฐเกาหลีจะเป็นประธานร่วม จะจัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในต้นเดือนพฤษภาคม 2561
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3681, 3622